กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฎหมายลิขสิทธิ์กฎหมายอาญากฎหมายแพ่งและพาณิชย์หย่าโดยยินยอมและหย่าเพื่อหนีหนี้ ขั้นตอนและผลทางฎหมายเป็นอย่างไร ?

13 January 2023
หย่าโดยยินยอมและหย่าเพื่อหนีหนี้
ขั้นตอนและผลทางฎหมายเป็นอย่างไร ? มาฟัง….
“หย่าโดยความยินยอม”
๑.ทำเป็นคำร้องยื่นต่อนายอำเภอ ตกลงหย่าขาดจากกัน โดยลงชื่อคู่สมรสและพยานสองคนกด็เป็นการหย่าที่สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๖๑๐/๒๔๙๖
๒.สัญญาหย่ามีพยานสองคน พยานที่ลงชื่อเป็นพยานคนแรกเบิกความว่า หลังจากที่ตนเซ็นชื่อแล้วจะมีใครเซ็นชื่อหรือไม่ไม่ทราบ พยานอีกคนเบิกความว่า เมื่อภรรยานำหนังสือสัญญาหย่ามาให้เซ็นก็เซ็นไป ไม่ถือว่าทั้งสองคนรู้เห็นเป็นพยานในการหย่า ไม่ถือเป็นหนังสือหย่าตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๔๑๗/๒๔๙๔
๓. ตกลงหย่ากันแล้ว สามีลงชื่อในหนังสือหย่าต่อหน้าพยานสองปาก ส่วนภรรยาลงชื่อหลังจากที่พยานคนหนึ่งไปแล้ว ถือว่าสัญญาหย่าสมบรูณ์ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ลงชื่อต่อหน้าพยานพร้อมกันสองคน ความประสงค์มีเพียง ให้พยานลงชื่อในสัญญานั้นพยานทั้งสองคนต้องรู้เห็นในข้อความที่ตกลงกัน คำพิพากษาฏีกา ๑๔๑/๒๔๘๗
๔.ทำหนังสือหย่ากันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าอีกฝ่ายฟ้องบังคับให้สามีไปจดทะเบียนหย่าได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๙๑/๒๕๐๐
๕.ทำหนังสือสัญญาหย่ากันแล้ว อีกฝ่ายไม่ไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ ยังสามารถบังคับโดยวิธีอื่นที่ไม่ต้องจับกุมคุมขัง ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๘๐/๒๕๐๘
๖.การหย่ามีผลสมบรูณ์เมื่อจดทะเบียนหย่า ส่วนระเบียบการจดทะเบียนครอบครัวที่นายทะเบียนที่รับแจ้งการหย่า ให้แจ้งการหย่าไปที่อำเภอที่จดทะเบียนสมรส หรือแจ้งไปที่สนง.จดทะเบียนกลาง ก็เป็นเพียงหลักฐานการตรวจสอบทางทะเบียนเท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๕๙๕/๒๕๓๔
๗.หย่าโดยสมรู้กันโดยหลอกลวงโดยสมคบกันระหว่างคู่กรณี แล้วไปจดทะเบียนหย่า การหย่าไม่ผูกพันคนภายนอก คำพิพากษาฏีกา ๓๖๙๘/๒๕๒๔
๘.หย่าแล้วยังอยู่ด้วยกัน และร่วมกันสร้างเรือนพิพาทอีกหลังร่วมกัน ปรับปรุงที่พิพาททำเป็นนา ขุดบ่อปลา ปลูกต้นไม้ หากินแบบสามีภรรยา และต่างไม่มีคู่สมรสใหม่ เป็นการหย่าที่ไม่ประสงค์ผูกพันตามสัญญาหย่า ทั้งคู่ยังเป็นสามีภรรยากัน คำพิพากษาฏีกา ๒๘๙๘/๒๕๒๕
ข้อสังเกต ๑.กรณีที่จะมีการหย่าได้ต้องเป็นกรณีที่ชายหญิงจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น หากไม่มีการจดทะเบียนสมรสก็ไม่มีอะไรต้องมาหย่ากัน เพราะไม่ใช่คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๕ จึงบัญญัติว่า “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว การหย่าโดยความยินยอมจะสมบรูณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว “ ดังนั้นหากเป็นการสมรสในต่างประเทศ โดยไม่ได้สมรสต่อพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ไม่ถือเป็นการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย การหย่าโดยความยินยอมจึงมีผลสมบรูณ์ไม่ต้องจดทะเบียนหย่า คำพิพากษาฏีกา ๖๑๐/๒๔๙๖
๒.การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ จะเขียนหรือจะพิมพ์ก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ ขอให้อ่านแล้วได้ใจความชัดแจ้งว่าคู่สมรสประสงค์เลิกจากการเป็นสามีภรรยากัน และลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง บัญญัติให้การหย่าโดยความยินยอม “ ต้อง “ ทำเป็น “ หนังสือ” “ และ” มีพยานอย่างน้อยสองคน “ กฎหมายใช้คำว่า “ และ” จึงต้องมีสองอย่างคือทำเป็น “ หนังสือ” และ “ มีพยานอย่างน้อยสองคน
๓. เมื่อต้องทำเป็นหนังสือ อาจ “เขียนข้อความนั้นเอง” หรือให้คนอื่นเขียน” ก็ได้ แต่ตนต้องลงลายมือชื่อเอาไว้ ป.พ.พ. มาตรา ๙
๔.เมื่อกฎหมายใช้คำว่า “ เป็นหนังสือ” จึงต้องลงลายมือชื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ไม่เหมือนคำว่า “ มีหลักฐานเป็นหนังสือ “ ซึ่งมีเพียงคู่กรณีฝ่ายที่ต้องรับผิดเท่านั้นลงลายมือชื่อก็พอแล้ว
๕. เมื่อต้องทำ” เป็นหนังสือ” เพียงทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายก็พอแล้ว การทำเป็นหนังสือ แม้จะทำในรูปเป็นหนังสือ หรือเป็น “คำร้อง” มายื่นที่ว่าการอำเภอก็เป็นหนังสือหย่าที่สมบรูณ์แล้ว
๖.พยานต้องลงลายมือชื่อในสัญญาหย่าให้ครบทั้งสองคน หากพยานลงลายมือเพียงคนเดียวสัญญาหย่าไม่สมบรูณ์ตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๑๖๓๙/๒๕๒๒ ซึ่งพยานอาจลงชื่อพร้อมกันหรือไม่ก็ได้ ขออย่างเดียวให้พยานรู้เรื่องในสัญญาหย่า เพราะกฎหมายต้องการเพียงให้มีพยานรับรู้สองคน กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าพยานทั้งสองต้องลงลายมือชื่อพร้อม ในกรณีที่พยานต้องลงลายมือชื่อนั้น หากพยานทั้งสองคนหรือพยานคนใดคนหนึ่งไม่ทราบว่าตนลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น เป็นการลงลายมือชื่อในเรื่องอะไร สัญญาหย่าก็ไม่สมบรูณ์ เพราะถือว่าไม่มีพยานสองคนลงลายมือชื่อ
๗. เมื่อพยานทั้งสองคนทราบข้อความในสัญญาหย่าแล้ว ได้ลงลายมือชื่อไว้ แม้ในสัญญาหย่า จะไม่มีคำว่า พยานต่อท้ายลายมือชื่อก็ไม่ทำให้สัญญาหย่าเสียไปไม่ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๐๒/๒๔๙๑
๘. ตกลงหย่าต่อหน้า “ พยานหลายคน” แต่ไม่ได้ทำเป็น “หนังสือ” ตามที่กฎหมายบัญยัติไว้ ไม่มีผลเป็นการหย่า คำพิพากษาฏีกา ๒๑๕/๒๕๑๙…………เพราะเป็นการตกลงหย่ากันด้วยวาจาแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามที่กฏหมายบัญยัติไว้
๙..ตามข้อ ๒. นั้น การที่พยานเบิกความว่า “ หลังจากที่ตนลงชื่อแล้ว ใครจะเซ็นชื่ออีกหรือไม่ไม่รู้” เท่ากับยืนยันว่าไม่แน่ใจว่าจะมีพยานรู้เห็นในการหย่าครบสองคนหรือไม่ ทั้งพยานในสัญญาหย่าอีกคนเบิกความว่า เมื่อภรรยานำหนังสือสัญญามาให้เซ็นก็เซ็นไป ซึ่งก็เท่ากับยืนยันว่าไม่รู้ข้อความในสัญญาหย่าว่าในหนังสือดังกล่าวต้องการทำอะไร เมื่อพยานไม่รู้เห็นเรื่องการหย่าครบสองคน จึงไม่ใช่สัญญาหย่าตามกฎหมาย
๑๐.ตามข้อ ๓. นั้นเมื่อมีพยานสองคนรับรู้เรื่องการหย่าและลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาหย่าสองคนก็ถือว่าเป็นอันว่าถูกต้องสมบรูณ์ตามที่กฏหมายต้องการแล้ว กฎหมายไม่ได้บังคับว่าคู่สมรสที่ต้องการหย่าต้องลงลายมือชื่อต่อหน้า”พยานทั้งสองคน” กฎหมายต้องการเพียง ให้มีพยานที่รู้เห็นในเรื่องการหย่าสองคนรับรู้เรื่องที่คู่สมรสตกลงหย่ากันและลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาหย่าเท่านั้น
๑๑.เมื่อทำสัญญาหย่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากอีกฝ่ายไม่ไปหย่าสามารถฟ้องศาลบังคับให้ไปจดทะเบียนหย่าได้ แต่หากการทำสัญญาหย่าไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น มีพยานไม่ครบสองคนดังนี้ก็ไม่สามารถฟ้องศาลให้บังคับให้ไปจดทะเบียนหย่าได้ และเมื่อฟ้องศาลจนศาลมีคำพิพากษาให้ไปหย่าแล้ว คู่กรณีอีกฝ่ายไม่ไป ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในการหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๑๓ วรรคสองตอนท้าย ไม่จำต้องร้องขอต่อให้ให้จับกุมคุมขัง ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๒๙๗ เพราะยังมีวิธีอื่นที่สามารถดำเนินการได้
๑๒.การหย่าต้องกระทำ ณ. ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งอาจเป็นที่ว่าการอำเภอที่ทำการจดทะเบียนสมรสหรืออาจเป็นที่ว่าการอำเภออื่นก็ได้ เป็นหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอที่รับจดทะเบียนหย่าต้องแจ้งการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่มีการจดทะเบียนสมรสหรือสำนักจดทะเบียนกลาง เพื่อการควบคุมในการจดทะเบียนสมรสครั้งต่อไปเท่านั้น ไม่ทำให้การจดทะเบียนหย่าที่ถูกต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่เมื่อทำการ แต่การไปจดทะเบียนหย่าที่สถานีตำรวจ ถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่นายทะเบียนที่จะมีอำนาจรับจดทะเบียนหย่าให้ได้ หากไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ ถือไม่มีการหย่าโดยถูกต้องตามกฎหมาย
๑๓.ตามข้อ ๗ เป็นการหย่าด้วยการแสดงเจตนาสลวงกับคู่สมรสอีกฝ่าย อาจเพื่อหลบหนีหนี้ กลัวว่า หากถูกฟ้องแล้วจะถูกฟ้องเพียงคนเดียวทรัพย์สินหลังการจดทะเบียนหย่าไม่ใช่สินสมรสที่จะต้องมาถูกบังคับคดี หรือเพื่อความสะดวกในการกุ้ยืมเงินที่ไม่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย หรือเพื่อประโยชน์ในการขายทรัพย์สินหรือการทำนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖(๑)ถึง(๘)ที่ไม่ต้องได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย เมื่อเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายการทำหนังสือสัญญาหย่าย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวไม่ได้ไม่ได้
๑๔.ตามข้อ ๘. จดทะเบียนหย่าแล้วยังอยู่ด้วยกันทำมาหากินอยู่ด้วยกันปลูกเรือนเพิ่ม และต่างก็ไม่มีคู่สมรสใหม่ แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาที่จะหย่าขาดกันแท้จริง ทั้งคู่ยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ โดยเป็นการแสดงเจตนาลวงระหว่างคู่สมรส ย่อมทำให้การแสดงเจตนาลวงดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ เหมือนไม่มีการจดทะเบียนหย่า เพราะการหย่าขาดจากกันก็เพื่อแยกกันอยู่ไม่เกี่ยวข้องกันอีกทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย แต่หย่าแล้วยังอยู่ด้วยกันทำมาหากินด้วยกันแสดงให้เห็นว่าการหย่านั้นเป็นการแสดงเจตนาลวงระหว่างคู่กรณี