สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา แต่เมื่อครบกำหนดลูกจ้างแจ้งไม่ต่อสัญญาจ้าง ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ในกรณีนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สัญญาจ้างนี้มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน แต่มีข้อความที่ให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ สัญญาจ้างจึงกลายเป็นระยะเวลาการจ้างไม่แน่นอน ไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามมาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ให้ลูกจ้าง แต่ต่อมาเมื่อครบกำหนดสัญญา ลูกจ้างได้แจ้งว่าลูกจ้างไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้างอีก ถือเป็นการลาออก ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่ได้รับค่าชดเชย
ตามคำพิพากษาศาลอุทธณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7076/2562 ตัดสินว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ (ลูกจ้าง) กับ จำเลย (นายจ้าง) กำหนดระยะเวลาจ้างและระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างที่แน่นอน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ถึง 30 พฤศจิกายน 2560 แต่เมื่อสัญญาจ้างข้อที่ 5 ระบุว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอน จำเลยไม่อาจบอกเลิกจ้างสัญญาจ้างได้ เว้นแต่โจทก์กระทำผิดเงื่อนไขเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น