สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา
เมื่อสิ้นสุดแล้ว นายจ้างไม่ต่อสัญญา “ต้องจ่ายค่าชดเชย”
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจนะคะ เพราะหลายบริษัท ใช้วิธีทำสัญญาจ้างปีต่อปี เมื่อครบปี ก็ ทำสัญญาต่ออีกฉบับนึง หรือบางบริษัท ก็ใช้วิธีการทำสัญญาแค่ 11 เดือนโดยเข้าใจว่าวิธีดังกล่าวจะไม่ต้องค่าชดเชย
ความเข้าใจแบบนี้ ทำให้เสียหายมาหลายบริษัทแล้ว เพราะ
1. หลายคน ตีความจากวรรคสามของมาตรา 118 ที่ว่า”..ค่าชดเชยในวรรคหนึ่ง มีให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้..” จึงใช้วิธีการทำสัญญาจ้างลูกจ้างเป็นแบบมีกำหนดระยะเวลาเพื่อหวังที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งแบบนี้ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะ ในวรรค 4 ของมาตราเดียวกันกำหนดว่า…..”การจ้างที่มีกำหนตระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของกิจการ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนต การสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี… “
2.ดังนั้นหากลูกจ้างท่านใด ทำงานโดยเซ็นสัญญาเป็นพนักงานแบบมีกำหนดระยะเวลา ในกิจการที่เป็นไปเพื่อการประกอบธุรกิจปกติหรือทางการค้าของนายจ้าง เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย
3.การกำหนดสัญญาจ้างเป็น 11 เดือนนั้นก็ไม่สามารถเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เพราะค่าชดเชยจะเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างทำงานต่อเนื่องกันครบ 120 วันและถูกเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ( ซึ่งการณีที่สัญญาสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดเช่นกัน)
4.อย่างไรก็ตามสัญญาแบบมีกำหนดระยะเวลานี้นายจ้าง ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ก่อนครบกำหนดเพราะมีระยะเวลากำหนดแล้ว เช่นเดียวกันลูกจ้างก็ไม่ต้องแสดงเจตนาลาออกอีก ดังนั้น ค่าตกใจจึงถูกตัดออกไปในสัญญาประเภทนี้
5.ส่วนลูกจ้างที่ประสงค์ขอออกก่อนระยะเวลานั้นสิ้นสุดก็ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย