กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานลูกจ้างสามารถลาออกจากงานโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานจริงหรือไม่ ?

1 December 2022

ลูกจ้างสามารถลาออกจากงานโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานจริงหรือไม่ ?

หลายๆ คนอาจเคยได้ยินว่า การลาออกจากงาน ลูกจ้างไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน เพราะเมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกให้กับบริษัท เท่ากับว่าการลาออกเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องรอการอนุมัติจากนายจ้าง สามารถออกได้ทันที และต้องได้ค่าตอบแทนถึงวันที่ทำงานวันสุดท้ายนั้น
ทางเพจขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้องไปซะทีเดียว กล่าวคือ แม้ว่าการลาออกจะมีผลทันทีโดยนายจ้างไม่จำเป็นต้องอนุมัติการลาออกก็ตาม แต่มาตรา 17 วรรคสอง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ กำหนดไว้ว่าลูกจ้างลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง

ดังนั้น หากลูกจ้างไม่บอกกล่าวก่อนหรือออกไปทันที แม้การลาออกไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ แแต่หากการออกจากงานไปทันทีของลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ และในทางกลับกันหากไม่เกิดความเสียหายหรือนายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสียหายอย่างไร ศาลก็เพียงแต่ยกฟ้องเท่านั้น

อ้างอิงตามฎีกาที่ 10614/2558 เรื่อง ลูกจ้างลาออกจากงานไม่ถูกต้อง เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 อันเป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้แต่การกำหนดจำนวนค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาล
ดังนั้นลูกจ้างควรต้องตรวจสอบให้ดีว่า สัญญาจ้างหรือกฎระเบียบของบริษัทมีการระบุให้ลูกจ้างแจ้งลาออกล่วงหน้าก่อน 30 วันหรือไม่ หากสัญญาจ้างหรือกฎหมายระเบียบกำหนดไว้ ลูกจ้างควรต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างบางคนอาจสงสัยว่าหากมีเหตุให้ลูกจ้างรอครบ 30 วันไม่ได้ เช่น ต้องรีบไปเริ่มงานที่ใหม่ กรณีเช่นนี้ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไร ขอบอกเลยว่าต้องอาศัยการเจรจาอย่างเดียว กล่าวคือ อาจจะต้องลองคุยกับหัวหน้างานว่าจะสามารถพบกันครึ่งทางได้ที่จุดใดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เพราะหากคิดในทางกลับกัน เมื่อลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างทันทีไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างเช่นเดียวกัน