กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานโดนกลั่นแกล้ง จับย้าย ลูกจ้างฟ้องได้หรือไม่ ?

7 November 2022
มีคำถามเข้ามาว่า บริษัทกำหนดเป้า บีบออก โดยแจ้งว่าหากสิ้นเดือนทำยอดไม่ถึงให้ยื่นใบลาออกไปสะ ปรากฏว่าลูกจ้างทำยอดได้ แต่นายจ้างกลับแจ้งว่าให้ย้ายแผนกสะงั้น ถามว่าหากลูกจ้างขัดขืนไม่ไปตามคำสั่งแล้วถูกเลิกจ้างลูกจ้างฟ้องได้หรือไม่ ?
คำตอบในเรื่องนี้ (พิจารณาตามข้อเท็จจริงของคำถามเท่านั้น)
ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากลูกจ้างไม่ย้ายไปตามคำสั่งของนายจ้างแล้วถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องได้ เนื่องจากการคำสั่งย้ายของนายจ้างมีลักษณะไม่เป็นธรรม ไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้าง และหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งหากจะมองว่าลูกจ้างทำงานไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ได้เนื่องจากลูกจ้างสามารถทำยอดขายได้ตามเป้า แต่นายจ้างก็กลับมีคำสั่งย้ายงานลูกจ้าง พฤติกรรมดังกล่าวของนายจ้างมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างเพื่อไม่ให้สามารถทนทำงานต่อไปได้ ดังนั้น การที่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจขัดขืนคำสั่ง หรือจงใจละทิ้งหน้าที่ ที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
เทียบเคียงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 632/2562 ที่นายจ้างมีการตระเตรียมโดยมีเจตนาที่จะเลิกจ้างไว้ก่อนแล้ว
การที่นายจ้างจัดเตรียมหนังสือเลิกจ้าง รายละเอียดการจ่าย ค่าชดเชยตามกฎหมายไว้ก่อนเช่นนี้ รวมทั้งมีบันทึกภายในขอรหัสผ่านคืนจากลูกจ้าง พร้อมทั้งปิดล็อค ห้องทำงานเพื่อไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน แสดงว่านายจ้างเตรียมการที่จะเลิกจ้างลูกจ้างไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยนายจ้าง เรียกลูกจ้างไปพบและแจ้งว่า ผู้บริหารมีมติให้เลิกจ้าง หากไม่ยอมลงลายมือชื่อ ในใบลาออกก็จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า ลูกจ้างมิได้ลาออก แต่เป็นนายจ้างต้องการเลิกจ้าง
ข้อสังเกต แม้ว่านายจ้างจะมีอำนาจในการย้ายงานตามสัญญาจ้างหรือตามข้อบังคับฯ เพื่อความเหมาะสม และเพื่อการบริหารงานขององค์กรก็ตาม แต่การย้ายก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. ต้องไม่เป็นการลดตำแหน่ง
2. ต้องไม่ลดค่าจ้างของลูกจ้าง
3.ต้องไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง
4. ต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม กล่าวคือ ต้องไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของลูกจ้างและครอบครัว หากการย้ายดังกล่าวเป็นการลดตำแหน่ง หรือลดค่าจ้าง หรือย้ายเพื่อกลั่นแกล้งให้ลูกจ้างลาออกเองเพื่อที่จะเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชย หรือย้ายในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง เช่น ต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในระยะทางที่ไกลขึ้น ดังนี้ หากลูกจ้างไม่ยอมย้ายไปตามคำสั่งนายจ้างแล้วถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้