ในกรณีที่ลูกจ้างขับรถไปชนบุคคลภายนอกในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นายจ้างต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ?
คำตอบคือ “ต้องร่วมรับผิด ตาม ป.พ.พ. ม.425”
เมื่อนายจ้างจ่ายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคคลภายนอกแล้ว นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างได้ ตาม ม.426
สำหรับเรื่องความรับผิดในมูลละเมิดของนายจ้างต่อบุคคลภายนอกนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่านายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ตาม ป.พ.พ มาตรา 425 ซึ่งหลักเกณฑ์ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดในมูลละเมิดของลูกจ้าง นั้น
1.ต้องมีนิติสัมพันธ์เป็นการจ้างแรงงาน
2.ลูกจ้างทำละเมิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง
3.ลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้าง ซึ่งทางการที่จ้างนั้น
- งานที่ทำต้องเป็นงานที่นายจ้างมอบหมาย
- หรืองานที่เกี่ยวเนื่องกับงานที่ได้รับมอบหมาย
- หรือเพื่อประโยชน์ของนายจ้างแม้ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่
ดังนั้น หากมูลละเมิดนั้นไม่ได้เกิดจากทางการที่จ้างหรือไม่ได้เป็นผลมาจากการปฏิบัติงาน นายจ้างก็ไม่ต้องร่วมรับผิด
มีประเด็นปัญหาว่า กรณีใดถือเป็นทางการที่จ้าง หรือ ไม่เป็นทางการที่จ้าง คลินิกกฎหมายรวบรวมมาให้แล้ว ไปอ่านกัน
1. ลูกจ้างขับรถปฏิบัติงานในหน้าที่ หรืองานที่นายจ้างมอบหมาย ถือว่าอยู่ในทางการที่จ้างตลอดไปจนกว่าจะปฏิบัติงานเสร็จนั้น แม้จะล่วงเลยเวลาปฏิบัติงานแล้วก็ตาม (ฎีกาที่ 2115/2517, 501/2522)
2.ลูกจ้างขับรถปฏิบัติงานในหน้าที่หรืองานที่นายจ้างมอบหมายนั้น ความประพฤติของลูกจ้าง แม้จะฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งหรือเกินคำสั่งของนายจ้าง ก็ถือว่าอยู่ในทางการที่จ้าง นายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในมาแก้ตัวต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ (ฎีกาที 1631-1634/2515, 275/2532)
3. การกระทำต่อเนื่องในหน้าที่ หรืองานที่มอบหมาย ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างด้วย (ฎีกาที่ 897/2519,2105/2540)
4. เหตุละเมิด เกิดระหว่างที่ลูกจ้าง หันเหเถลไถลไป ซึ่งยังถือไม่ใด้ว่าเป็นการละทิ้งการงาน หรือผิดร้ายแรง (ฎีกาที่ 1653/2523, 67712540)
5. ลูกจ้างมิใด้ขับรถไปเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่หรืองานที่ได้รับมอบหมาย แต่ขับรถไปเพื่อกิจธุระของตน หรือ ของบุคคลอื่น ถือว่าอยู่นอกทางการที่จ้าง (ฎีกาที่ 1772/2512)
มีคดีหนึ่งน่าสนใจ ที่อยากให้อ่านกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2560 แม้จำเลยจะอ้างว่ารถยนต์กระบะบรรทุกเป็นของ บ. เอง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บ. เป็นผู้จ่าย ทั้ง บ. ก็ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย แต่เมื่อรถยนต์กระบะบรรทุกคันเกิดเหตุ ปรากฏชื่อบริษัทของจำเลยอยู่ข้างตัวรถ การที่จำเลยสั่งให้ บ. เข้าไปรับสินค้าโดยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกคันดังกล่าว จำเลยจึงเป็นนายจ้างของ บ. ต้องรับผิดกับ บ. ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น
ข้อสังเกตในคดีนี้
1.จำเลยให้การต่อสู้ว่า รถยนต์กระบะบรรทุกเป็นของนายเฟื่องฟ้าเอง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นายเฟื่องฟ้าเป็นผู้จ่าย ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน ที่จำเลยไม่ต้องรับผิด แต่ จำเลยก็มิได้มีหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏดังข้อกล่าวอ้าง พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์
2. รถยนต์กระบะบรรทุกคันเกิดเหตุ มีชื่อบริษัทของจำเลยอยู่ข้างตัวรถ การที่จำเลยที่สั่งให้นายเฟื่องฟ้าเข้าไปรับสินค้าโดยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกซึ่งมีชื่อบริษัทของจำเลยติดอยู่ข้างตัวรถจึงมีลักษณะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน
3. ศาลจึงพิจารณาตัดสินให้จำเลยร่วมรับผิดกับลูกจ้างในมูลละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง