ประเด็นนี้เคยเจอกรณีที่มีลูกความปรึกษาเข้ามา โดยนายจ้างใช้วิธีหักค่าจ้างหรือให้ลูกจ้างไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นหลักประกันการทำงาน โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายจ้าง ตามวงเงินที่รับประกัน หากว่าลูกจ้างกระทำการอันเป็นฉ้อโกง ยักยอก หรือทุจริตที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรือกระทำความความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สิน ของนายจ้าง
กรณีดังกล่าวนั้น นายจ้างสามารถทำได้หรือไม่ ?
ผู้เขียนเห็นว่า นายจ้างไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์การเรียกรับหลักประกันการทำงาน ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ม.10 และตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกัน การทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้เรียกหลักประกันได้เพียง 3 ประเภท คือ
1.เงินสด
2.ทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินที่เรียกรับได้แก่
2.1 สมุดเงินฝากประจำธนาคาร
2.2 หนังสือค้ำประกันของธนาคาร
3.การค้ำประกันด้วยบุคคล
ดังนั้น การที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันฯ หรือหักค่าจ้างของลูกจ้างแล้วนำไปซื้อ กรมธรรม์ประกันภัย ซี่งมิใช่หลักประกันที่สามารถเรียกรับได้ ตามประกาศฯ จึงเป็นการขัดต่อกฎหมาย แม้ลูกจ้างจะให้ความยินยอม การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างไม่สามารถทำได้
ประเด็นต่อมาคือ นายจ้างต้องคืนเงินให้กับลูกจ้างหรือไม่ ? ในกรณีนี้คลินิกกฎหมายรายงานเห็นว่าการที่นายจ้างเรียกหลักประกันหรือหักค่าจ้างเพื่อไปซื้อกรมธรรมประกันภัย ซึ่งเป็นหลักประกันที่ไม่สามารถเรียกรับได้ หรือแม้การที่นายจ้างหักค่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการทำงาน โดยลูกจ้างยินยอม ก็เป็นหลักประกันประเภทเงินสด ซึ่งตามประกาศฯ ข้อ 8 นายจ้างจะต้องนำไปฝากธนาคารโดยชื่อบัญชีลูกจ้าง ดังนั้น เมื่อนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องจึงต้องคืนเงินให้กับลูกจ้าง
(อ้างอิงข้อหารือกองนิติการ ที่ รง 0505/3414 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561)