กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานสั่งงานเกินความสามารถ ไม่ผิดฐานจงใจขัดคำสั่ง หากถูกเลิกจ้างมีสิทธิได้ค่าชดเชย

31 October 2022
พี่ฝ้ายขาาา นายจ้างมอบหมายและมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงาน แต่ว่างานมันเกินศักยภาพ เกินความสามารถของที่หนูจะทำสำเร็จได้ แบบนี้นายจ้างจะถือได้ว่าหนูจงใจฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง เป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างหนูได้รึเปล่าคะ??
จากคำถามดังกล่าว พี่ฝ้ายสุดน่ารักขอตอบแบบนี้ค่ะ
1. หากงานนั้นเกินความสามารถที่จะปฏิบัติได้ จะถือว่าลูกจ้าง จงใจฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไม่ได้ เพราะการที่จะถือว่าฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างต้องออกหนังสือเตือน (กรณีไม่ร้ายแรง) หรือมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (กรณีร้ายแรง) ต้องเป็นข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติตามได้ แล้วลูกจ้างไม่กระทำโดยเจตนาฝ่าฝืน
2. ทั้งนี้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2523 ที่ศาลวินิจฉัยว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง อันจะทำให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯข้อ 47 (3) หมายถึง เป็นข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติตามได้แล้วลูกจ้างไม่กระทำโดยเจตนาฝ่าฝืน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่ลูกจ้างไม่เรียงอิฐให้ได้วันละ 8 คันรถตามคำสั่งของหัวหน้าแผนก เป็นเพราะเกินความสามารถของลูกจ้างที่จะทำได้ มิใช่ลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนคำสั่ง นายจ้างจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
3. แต่ๆๆๆๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เดี๋ยวลูกจ้างจะไปอ้างว่าเกินความสามารถ ทำไม่ได้อย่างเดียวเลยแบบนี้ ไม่ได้นะคะ เพราะการพิจารณาคดีของศาลต้องถือตามข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไป ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่ได้มีการกำหนดมาก่อนว่า วันหนึ่งต้องเรียงได้กี่คันรถ แต่นายจ้างมาออกประกาศภายหลังว่าต้องเรียง 8 คันรถ/วัน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอม คำสั่งนี้ย่อมไม่มีผลให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม ทั้งการเรียงอิฐให้ได้จำนวนตามคำสั่งเป็นงานหนักเกินไปกว่าที่ลูกจ้างจะสามารถกระทำได้ ลูกจ้างไม่จงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย