กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานลูกจ้างตายก่อนใช้สิทธิเกษียณ มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่?

31 October 2022
ลูกจ้างตายก่อนใช้สิทธิเกษียณ มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่??
มีคำถามinbox เข้ามาจากลูกความสุดสวยเมืองลพบุรี ถามว่า… หากลูกจ้างอายุ 60 ปี ไม่ได้ใช้สิทธิเกษียณ แต่ต่อมาลูกจ้างตาย ทายาทจะมีสิทธิได้เงินค่าชดเชยหรือไม่??
1. กรณีมิได้มีข้อตกลงกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ ลูกจ้างตายก่อนที่จะใช้สิทธิเกษียณ ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่??
คลินิกกฎหมายแรงงานมีความเห็นว่า เมื่อลูกจ้างมิได้มีการแสดงเจตนาขอเกษียณอายุต่อนายจ้าง จึงยังไม่เกิดผลทางกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย จึงไม่เป็นสิทธิในทรัพย์สินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายก่อนถึงแก่ความตาย อันจะตกแก่ทายาท นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
2. หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า ลูกจ้างแสดงเจตนาไปแล้ว ในระหว่างที่ยังไม่ครบ 30 วัน ปรากฎว่า ลูกจ้างถึงแก่ความตายก่อน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทของลูกจ้างหรือไม่ ?
หากตีความตามกฎหมายว่า การแสดงเจตนาการเกษียณอายุยังไม่มีผล จึงยังไม่เกิดสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย เห็นว่า นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว
แต่ถ้าตีความว่าระยะเวลา 30 วัน เป็นเพียงระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้นายจ้างได้มีโอกาสหาคนมาทำงานแทน ให้เวลาลูกจ้างได้เคลียร์งานให้เรียบร้อย ดังเช่น ตาม ม.17 เมื่อแสดงเจตนาแล้วย่อมมีผลและเกิดสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย หากตายก่อน ดังนี้ ทายาทก็มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย
ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเพียงความเห็นนะคะ หากมีประเด็นปัญหาดังกล่าวขึ้นสู่ศาล ก็ต้องรอดูแนวคำพิพากษาของศาลว่าจะออกมาแนวใด
3. หากว่าในระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดไว้ชัดเจนว่า “เมื่ออายุครบ 60 ปี ให้พนักงานเกษียณอายุและมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย เงินบำเหน็จ หรือเงินอื่น ๆ” ดังนี้ หากลูกจ้างมีอายุครบตามหลักเกณฑ์ ลูกจ้างหรือทายาทก็มีสิทธิได้รับเงินตามระเบียบ ข้อบังคับ นั้น
เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2531 จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นสาระสำคัญ จึงเป็นสัญญาเฉพาะตัวเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย สัญญาย่อมระงับลง สิทธิทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นตามสัญญาจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกแก่ทายาทแต่อย่างใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ว่าสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัวนั้น หมายความเพียงว่า เมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตายสัญญาจ้างแรงงานย่อมเป็นอันระงับไป ทายาทของลูกจ้างจะเข้ารับมรดกเพื่อทำหน้าที่เป็นลูกจ้างของนายจ้างต่อไปไม่ได้เท่านั้น แต่ค่าชดเชยก็ดี เงินบำเหน็จก็ดี ในฟ้องคดีนี้เป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับตามกฎหมายและตามข้อบังคับของจำเลยนับแต่วันที่ถูกจำเลยเลิกจ้างสิทธิดังกล่าวไม่ใช่สิทธิที่จะทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมาแล้ว แต่เป็นสิทธิในทรัพย์สินซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายอยู่แล้วก่อนถึงแก่ความตาย จึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ผู้เป็นทายาท โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจากจำเลยได้
**ข้อกฎหมาย**
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.118/1 การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตาม ม.118 วรรค 2
ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตาม ม.118 วรรค 1