ลูกจ้างกู้เงินธนาคาร นายจ้างเป็นผู้ค้ำประกัน หากนายจ้างใช้สิทธิไล่เบี้ย ต้องฟ้องคดีศาลใด??
ต้องขยายความนิดนึงกับคำถามนี้ โดยข้อเท็จจริงมีว่า ลูกจ้างเป็นเซลล์ ทำสัญญากับนายจ้างโดยให้ลูกจ้างไปกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อรถยนต์มาใช้ในกิจการของนายจ้าง โดยนายจ้างเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ซึ่งลูกจ้างต้องชำระหนี้กับธนาคารและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้นายจ้าง หากทำงานครบ 4 ปี นายจ้างจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกจ้าง ต่อมาลูกจ้างทุจริตและหนีไป ไม่ชำระหนี้ให้ธนาคาร นายจ้างจึงไปชำระหนี้ให้กับธนาคาร และจะใช้สิทธิฟ้องลูกจ้าง
คำถามจึงเกิดว่า กรณีนี้นายจ้างจะต้องฟ้องที่ศาลใด??
ตอบ ฟ้องที่ศาลจังหวัด/แขวงหรือศาลชั้นต้นอื่น เพราะคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ทั้งนี้ ตามแนวคำวินิจฉัยอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 106/2543
ในเรื่องนี้ เคยมีคดีขึ้นสู่ศาล โดยนายจ้างได้นำคดีไปฟ้องที่ศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งเห็นว่ากรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัย (ปัจจุบัน ต้องส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย) หากวินิจฉัยว่าอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ศาลแพ่งก็จะต้องโอนคดีไปยังศาลแรงงาน (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ ม.9)
ผลคำวินิจฉัยมีว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ดังนั้น ศาลแพ่งจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป
ข้อกฎหมาย**
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงาน ม.9 ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องเปลี่ยนแปลงศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ให้ศาลเดิมโอนคดีไปยังศาลดังกล่าว และให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลเดิมก่อนมีคำพิพากษาไม่เสียไป เว้นแต่ศาลที่รับโอนคดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ