กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานนายจ้างหักเงินโบนัสของลูกจ้าง ไปชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ ?

31 October 2022
ใกล้ปลายปี ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับโบนัสเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้มีคำถามในวันนี้มีว่า “นายจ้างสามารถหักเงินโบนัสของลูกจ้าง เพื่อนำไปชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ ??”
คำถามนี้สามารถตอบได้ 2 กรณีค่ะยาวนิดค่อยค่อยอ่านนะ
ตอบ!! 1. กรณีหักได้ หากลูกจ้างได้กระทำผิดและข้อเท็จจริงก็ยุติว่าผิดจริง นายจ้างก็สามารถ “หักได้” เพราะเงินโบนัส เป็นเงินที่จ่ายจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อสิ้นปีโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นรางวัลและเพื่อเป็นแรงจูงใจและขวัญกำลังใจ ซึ่งไม่ถือเป็นค่าจ้าง จึงต้องไม่ห้ามตามกฎหมาย ม.76 แต่การหักเงินโบนัสดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับลูกจ้างผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิด ตาม ป.พ.พ. ม.341 ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลที่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13798/57
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากโจทก์ออกจากงาน จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกทรัพย์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์ของจำเลยให้โจทก์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่จำเลย 1,100,620 บาท การกระทำของโจทก์ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมส่วนของตนพร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบในส่วนจำเลยพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือคู่มือพนักงาน ข้อ 5 หน้า 25 และจำเลยมีสิทธินำเงินสะสมส่วนของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยมาชำระค่าเสียหาย ส่วนเงินโบนัสและเงินช่วยเหลือพนักงานนั้นไม่มีข้อบังคับหรือข้อตกลงให้จำเลยนำมาหักชำระค่าเสียหายได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินโบนัสดำเนินการขายและเงินช่วยเหลือพนักงานที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับจากจำเลยมาหักกลบลบหนี้ออกจากค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ของโจทก์และจำเลยถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 ที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยมาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. ม.341 แม้จะไม่มีข้อบังคับหรือข้อตกลงให้จำเลยนำมาหักได้ก็ตาม ดังนั้น จึงไม่มีเงินเหลือที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์อีกอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสและเงินช่วยเหลือพนักงานพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
2. กรณีหักไม่ได้ : หากลูกจ้างให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ถือได้ว่าเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องยังมีข้อต่อสู้อยู่ นายจ้างย่อมไม่อาจนำเงินโบนัสมาหักกลบลบหนี้ได้ เทียบเคียงตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2548 ตามข้อ 11 แห่งข้อบังคับของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ที่กำหนดว่า “ก่อนจ่ายเงินโบนัสตามข้อบังคับนี้ให้ กทพ. หักเงินดังกล่าวชดใช้หนี้สินผูกพันหรือค่าเสียหายที่พนักงานผู้นั้นได้มีอยู่กับหรือก่อให้เกิดแก่ กทพ. ให้ครบถ้วนเสียก่อน” เป็นการให้สิทธิหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. ซึ่งตามมาตรา 344 สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ จะเอามาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์นำส่งเงินค่าผ่านทางพิเศษไม่ครบ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 45,910 บาท แก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็นำสืบต่อสู้ว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าโจทก์ยักยอกเงิน นั้นไม่เป็นความจริง ความจริงมีเงินหายไป จำเลยที่ 1 ไม่สามารถสืบทราบว่าผู้ใดกระทำผิด จึงใส่ร้ายโจทก์เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งต่ำสุด ถือได้ว่าเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหักเงินโบนัสซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ก่อให้เกิดแก่จำเลยที่ 1
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ