เรื่องมีว่า ลูกจ้างรายเดือนมีความจำเป็นที่จะต้องขอลาหยุดยาวต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน โดยต้องไปดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนัก ซึ่งเป็นการลาพิเศษ เนื่องจากได้ใช้สิทธิวันลาพักผ่อนจนครบแล้ว จึงทำหนังสือตกลงยินยอมไม่ขอรับค่าจ้างระหว่างลาดังกล่าว โดยนายจ้างก็ตกลงอนุมัติให้ลา
จึงเกิดคำถามว่า ในระหว่างที่ลูกจ้างลาพิเศษโดยไม่ขอรับค่าจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดตามประเพณี (ถ้ามี) หรือไม่ ?
คลินิกกฎหมายรายงานให้ความเห็นว่า
นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดตามประเพณี (ถ้ามี) ในระหว่างลาให้กับลูกจ้าง เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจัดให้ลูกจ้างได้หยุดและมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างรายเดือนในวันหยุดดังกล่าว ทั้งนี้ ตาม ม.56 (1) และ (2) ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างในระหว่างลาหยุดงาน เทียบเคียงข้อหารือกองนิติการ ที่ รง 0504/00279 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2557
กรณีต่อมา มีประเด็นว่า หากลูกจ้างลาไม่รับค่าจ้าง นายจ้างจะใช้ฐานเงินค่าจ้างใด ในการคำนวณนำส่งเงินสมทบประกันสังคม?
กรณีที่ลูกจ้างลาโดยไม่รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่สามารถทำได้ แต่ในระหว่างลานั้น ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดตามประเพณี ซึ่งเป็นเงินค่าจ้าง ตาม ม.5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ดังนั้น ในการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม จึงต้องนำเงินค่าจ้าง (เงินค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดตามประเพณี) ที่ลูกจ้างได้รับนำส่งในเดือนนั้น ๆ