กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานคู่ความ !! เสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมนอกสำนวนพนักงานตรวจแรงงานได้หรือไม่ ?

20 October 2022
อันนี้เป็นประเด็นน่าสนใจนะคะใน วิธีการพิจารณาคดีในศาลแรงงานจึงหยิบยกขึ้นมาเขียนให้ฟังให้ทราบโดยทั่วกันเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในฝั่งของนายจ้างและตอบคำถามของจ้างหลายหลายท่านค่ะ
ในกรณีที่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างก็มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงาน ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4)
ประการต่อมาคือหากฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้นำคดีไปสู่ศาลแล้ว จะสามารถนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มนอกสำนวนการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานได้หรือไม่ ?
​ในประเด็นดังกล่าว ได้มีประเด็นขึ้นสู่ศาล โดยศาลได้พิจารณาพิพากษาว่า สามารถนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมนอกสำนวน “ได้” เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวน หรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น เพราะการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานที่กระทำเพียงบุคคลเดียวอาจมีข้อบกพร่องได้ ดังนั้น นายจ้างจึงสามารถอ้างพยานหลักฐานใดๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่อ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น
​อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8792/2550 โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) ซึ่งการพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ วิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ หลักในการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้แล้ว หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เพราะการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนไว้โดยเฉพาะ ทั้งกระทำการสอบสวนและใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเพียงลำพังคนเดียว การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงอาจมีข้อบกพร่องได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งโดยการสอบสวนคำร้องของจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว และจำเลยที่ 2 ละทิ้งงานที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องที่โจทก์สามารถออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ทำงานล่วงเวลาได้เป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ศาลแรงงานกลางจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริง รวมทั้งพิจารณาว่ากระบวนการสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยชอบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ข้อเท็จจริงคดีนี้ในประเด็นที่ว่าโจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยพิจารณาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฟังพยานหลักฐานหรือสอบสวนตามคำร้องของจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว แต่ได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ด้วยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งไปโดยมิชอบ โดยศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมไว้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เพื่อให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบในการพิจารณาคดีต่อไป