กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานการนับระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนับอย่างไร ยื่นขอขยายได้หรือไม่ ?

20 October 2022
การฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ในกรณีที่ฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้น ต้องนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ม.125 ​จึงเกิดคำถามว่า ระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง นับอย่างไร ?
​สำหรับประเด็นเรื่อง การนับระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ต้องนับระยะเวลาตาม ป.พ.พ. ม.193/3 เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ม.125 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะไว้เป็นพิเศษ ตาม ป.พ.พ.193/1 ดังนั้น การนับระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. ม.193/3 ที่ไม่นับรวมวันแรกที่ทราบคำสั่งเข้าไปด้วย ให้คงเริ่มนับวันแรกในวันถัดไป เช่น นายจ้างทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 การนับระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่ง 30 วัน ต้องเริ่มนับวันแรกในวันที่ 19 ตุลาคม 2565
​เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 8920/2560 การนับระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานบังคับต้องนับระยะเวลาตามมาตรา 193/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 จะบัญญัติให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง อันเป็นเพียงการกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิว่าสั้นยาวเพียงใด มิใช่บทบัญญัติให้นับระยะเวลาใช้สิทธิว่าเริ่มหรือสิ้นสุดเมื่อใด บทบัญญัติดังกล่าวและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใดอันจะถือได้ว่าเป็นการกำหนดวิธีการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 การนับระยะเวลานำคดีมาสู่ศาลตามมาตรา 125 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 โจทก์ทราบคำสั่งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 การนับระยะเวลาจึงไม่นับวันแรกคือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 แต่เริ่มนับวันแรกในวันถัดไปคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป และจะครบ 30 วันในวันที่ 29 มีนาคม 2549 การที่โจทก์นำคดีไปสู่ศาลในวันที่ 29 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จึงเป็นการนำคดีมาสู่ศาลภายในกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง คำสั่งของจำเลยจึงยังไม่ถึงที่สุด
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงได้หยิบประเด็นในเรื่องนี้มาเขียน
นั่นก็เพราะว่าหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คำสั่งย่อมเป็นที่สุด ที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติตาม จะมาฟ้องเพิกถอนไม่ได้ หากเป็นกรณีลูกจ้างนำคดีมาฟ้องเพื่อขอบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นายจ้างจะไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งอันถึงที่สุดแล้วได้ (ฎีกาที่ 6552/2542)
​หากจะครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน แต่ยื่นฟ้องไม่ทัน ยื่นขอขยายระยะเวลาออกไปได้หรือไม่ ?
​คำตอบคือ นายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำฟ้องต่อศาลได้
เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5033/2549 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง” ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ เป็นการใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ดังนั้น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงสามารถย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม