กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างตรวจสารเสพติดได้หรือไม่ ?

11 October 2022
สำหรับเรื่องการตรวจสารเสพติดนี้ ตามกฎหมายการตรวจหาสารเสพติดจะทำได้เพียงการตรวจโดยเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้อำนาจนายจ้างตรวจสารเสพติดในตัวลูกจ้างได้หากลูกจ้างไม่ยินยอม
​จึงเกิดเป็นคำถามว่า “หากงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน นายจ้างมีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างตรวจสารเสพติดได้หรือไม่?”
​ คลินิกกฎหมายแรงงาน เห็นว่า นายจ้างก็สามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างต้องทำการตรวจสารเสพติดได้ หากลักษณะงานที่ลูกจ้างทำนั้น เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ควบคุมเครื่องจักร เพราะหากลูกจ้างทำงานโดยเสพยาเสพติด อาจเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน และอาจนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อลูกจ้างเองหรือลูกจ้างอื่นด้วย ทั้งยังส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างลดลงอีกด้วย
คำถามต่อมา หากลูกจ้างปฏิเสธไม่ตรวจสารเสพติด นายจ้างเลิกจ้างได้หรือไม่?
หากนายจ้างมีระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดให้ลูกจ้างห้ามยุ่งเกี่ยว หรือเสพยาเสพติด และต้องเข้ารับการตรวจสารเสพติด เช่น พนักงานขับรถบรรทุก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ดังนี้ หากลูกจ้างปฏิเสธย่อมถือเป็นการขัดขืน ฝ่าฝืน คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้
เทียบเคียง คำพิพากษาฎีกาที่ 4962/57 ฝ่าฝืนไม่ไปตรวจสารเสพติดซ้ำตามคำสั่งและนโยบายถือว่าฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบกรณีร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2557 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจ้างมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ห้ามมิให้พนักงานกระทำผิดทางอาญา พร้อมทั้งมีประกาศว่าหากบริษัทหรือหน่วยงานราชการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของพนักงาน พนักงานจะถูกพิจารณาโทษทางวินัยจากนายจ้าง ในวันที่ 30 มิถุนายน ลูกจ้างถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน นายจ้างจึงบอกเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ 15 กรกฎาคม ต่อมาลูกจ้างได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 แล้ว และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 21 มกราคม การที่ลูกจ้างมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษแม้จะเป็นเพียงผู้เสพและได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายก็ตาม แต่กระทำของลูกจ้างก็ได้สร้างความเสียหายให้กับองค์กรอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ข้อสังเกต หากพฤติการณ์ของลูกจ้างพัวพันเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหากให้ทำงานต่อไปอาจเกิดความเสียหายนายจ้างเลิกจ้างได้ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ฎีกา 6196/2560