ผ่อนรถไม่ไหว คืนไปแล้ว แต่ทำไมยังถูกฟ้อง
เห็นพูดมาหลายคนว่า ถ้าผ่อนไม่ไหวคืนก่อนเลยก่อนไฟแนนซ์มายึด เท่านั้นก็จบ !!
.
.
ไม่ใช่แน่นอน เพราะหลักการคือ ไฟแนนซ์ให้ยืมเงินไปซื้อรถแล้วผ่อนคืน โดยมีรถที่เราขับขี่นั่นแหละค้ำเอาไว้ พอเราไม่สามารถผ่นได้ตามที่ตกลงกัน ไม่ว่าไฟแนนซ์ก็เอารถคืนกลับไป หรือเราเอารถไปคืนที่ไฟแนนซ์เอง ไฟแนนซ์ก็จะรับไว้ จากนั้นก็ทำการขายทอดตลาด เมื่อขายได้เท่าไหร่ก็หักลบหนี้ที่มีตามสัญญาเช่าซื้อ ขาดเท่าไหร่ก็เป็นส่วนต่างความเสียหายที่เกิดกับไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์จึงมีสิทธิฟ้องแน่นอน
แต่หลายๆครั้งที่ไฟแนนซ์ แพ้ในคดีเรียกค่าส่วนต่างเพราะอะไร เพราะในการขายทอดตลาด ไฟแนนซ์จะต้องประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งมี 2 ข้อ หลักๆ คือ
1.ต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) เป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน
2.ขายโดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม
ซึ่งหากไฟแนนซ์ปฎิบัติไม่ถูกต้อง หรือ หากขาดข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้เช่าซื้อจึงจะไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างของหนี้ที่เหลืออยู่
แต่ในทางกลับกัน ถ้าไฟแนนซ์ทำครบแล้วขั้นตอนแล้ว โอกาสที่ชนะคดีและผู้ช่าซื้อจะต้องจ่ายส่วนต่างก็มีสูง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2560
“การเรียกค่าขายรถที่เช่าซื้อไปแล้วขาดทุนนั้นคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในค่าขาดราคาหรือไม่ เพียงใด โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงยุติว่า
1 โจทก์ไม่ได้แจ้งการประมูลรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยทั้งสองทราบ และ
2 โจทก์ไม่ได้นำพยานมาสืบให้ได้ความว่า การขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดโดยทั่วไปหรือไม่
จึงรับฟังไม่ได้ว่า การขายทอดตลาดโดยการประมูลราคาดังกล่าวของโจทก์เป็นการกระทำที่เหมาะสม ซึ่งโจทก์จะพึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากสัญญาเช่าซื้อได้อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 12 วรรคท้าย ระบุว่า “ในกรณีธนาคารบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถ ธนาคารจะแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ” ส่วนข้อ 14 ระบุว่า “กรณีที่ธนาคารได้รถกลับคืนมา ธนาคารตกลงว่าหากนำรถออกขายได้ราคาเกินกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ ธนาคารจะคืนเงินส่วนเกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่ธนาคารได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น” และสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 ระบุว่า “หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนจนเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหาย หรือรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดความเสียหายไม่ว่าด้วยเหตุใด แม้โดยอุบัติเหตุ เหตุสุดวิสัย หรือภัยพิบัติเหตุใดที่ไม่อาจป้องกันได้ ผู้ค้ำประกันยินยอมที่จะชำระหนี้ของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ธนาคารทันทีจนครบถ้วน ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันตามสัญญานี้เป็นความรับผิดต่อธนาคารร่วมกันกับผู้เช่าซื้อและในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่าธนาคารได้ทวงถามหรือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันแล้วหรือไม่ก็ตาม” ดังนั้น ก่อนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องแจ้งล่วงหน้าให้จำเลยที่ 1 ทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิซื้อรถยนต์กลับคืนตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซื้อรถกลับคืนดังกล่าว ประกอบกับโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความว่า การขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดโดยทั่วไป คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเหมาะสมตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 14. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกราคารถยนต์ส่วนที่ขาดอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน”