การโอนย้ายพนักงานจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง ที่การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างให้ความยินยอมแล้ว สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่กับนายจ้างเดิม จะยังคงมีสิทธิต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การนับอายุงาน เงินเดือน สิทธิประโยชน์สวัสดิการ โดยนายจ้างใหม่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้น ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.13
ดังนั้น คำถามที่ว่า หากลูกจ้างไม่ยินยอม จะถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ คลินิกกฎหมายแรงงานจึงมีความเห็น ดังนี้
หากลูกจ้างไม่ยินยอม ย่อมถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง ที่นายจ้าง ต้องจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3002/2561 การที่นายจ้างโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือ แม้กรรมการเป็นคนเดียวกัน ก็ถือเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหาก ถือเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างตามป.พ.พ. ม.577 วรรค 1 เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอม จึงไม่อาจโอนย้ายได้ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง ควรบริหารอย่างไรนั้น
นายจ้างควรพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกจ้างถึงสาเหตุที่ต้องมีการโอนย้ายพนักงานว่ามีความจำเป็นอย่างไร หากลูกจ้างยินยอมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของลูกจ้างไม่เสียไป ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่ง เงินเดือน สวัสดิการ ต้องไม่ต่ำกว่าเดิม อายุงานนับต่อเนื่อง ดังนี้ ผู้เขียนคิดว่าลูกจ้างก็น่าจะเข้าใจและยินยอมโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่
ในกรณีที่ลูกจ้างยินยอมเปลี่ยนแปลงนายจ้าง แต่นายจ้างใหม่ จ่ายเงินเดือนต่ำกว่าเดิม ลดเงินประจำตำแหน่ง ลดสวัสดิการ ต่ำกว่าเดิม ลูกจ้างมีสิทธิอย่างไร ?
ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้