เรื่องการประเมินผลงานนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่นายจ้างจะนำมาใช้เพื่อการคัดสรรพนักงานไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การตกลงจ้างต่อเป็นพนักงานประจำ หรือใช้ในการพิจารณา ปรับระดับ เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน หรือจ่ายเงินโบนัส
ส่วนใหญ่แล้วหลักเกณฑ์ในการประเมินจะเป็นไปตามมาตรฐาน ระดับตำแหน่ง หากปรากฏว่านายจ้างประเมินผลงานไม่ถูกต้อง เป็นไปในลักษณะกลั่นแกล้ง ไม่ตรงตามความจริงและไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างนั้น ลูกจ้างต้องทำอย่างไร ?
ในเรื่องดังกล่าวนั้น ลูกจ้างสามารถทำความเห็นแย้งได้ เพราะหากเวลาล่วงเลยไป ลูกจ้างจะมาโต้แย้งคัดค้านภายหลังไม่ได้ เช่น นายจ้างประเมินผลการทำงานลูกจ้างโดยมีคะแนนค่อนข้างน้อย ซึ่งในการปฏิบัติงานนั้น ลูกจ้างตั้งใจทำงาน ไม่ขาดงาน ไม่เคยทำงานสายและในรอบปีใช้สิทธิวันลาน้อย หากประเมินผลงานแล้วลูกจ้างควรที่จะมีสิทธิได้รับเงินโบนัส หรือมีสิทธิในการเลื่อนเงินเดือน ดังนี้ เมื่อลูกจ้างทราบผลการประเมินแล้ว แต่ลูกจ้างก็ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านหรือสอบถามว่าเหตุใดคะแนนการประเมินจึงได้คะแนนน้อย จนผ่านการพิจารณาจ่ายเงินโบนัสหรือผ่านการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนไปแล้ว กรณีเช่นนี้ ถือว่าลูกจ้างได้ยอมรับผลการประเมินแล้ว จะมาโต้แย้งคัดในภายหลังไม่ได้เพราะเวลาได้ล่วงเลยที่จะโต้แย้งไปแล้ว
ดังนั้น หากลูกจ้างเห็นว่าการประเมินผลการทำงานไม่ถูกต้อง เป็นไปในลักษณะกลั่นแกล้ง หรือไม่เป็นธรรม ควรโต้แย้ง คัดค้าน ทันทีที่ทราบผลการประเมิน โดยการโต้แย้งคัดค้านนั้นอาจจะทำเป็นหนังสือ ส่งอีเมล์ ทั้งนี้ เพื่อจะมีหลักฐานหากต้องมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล
เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 13010/2558 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ลูกจ้างลางาน มาสายบ่อย หัวหน้างานจึงประเมินให้อยู่ในระดับดีพอใช้ ลูกจ้างทราบผลการประเมินแล้วไม่ได้โต้แย้ง คัดค้าน ต่อมา นายจ้างได้นำผลการประเมินมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายโบนัสโดยปรับลดโบนัสลง 3 % ของเงินเดือน ลูกจ้างไม่พอใจ จึงนำคดีไปสู่ศาล ศาลตัดสินว่า ลูกจ้างได้รับผลการประเมินแล้วมิได้โต้แย้ง การประเมินของหัวหน้างานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ได้กลั่นแกล้ง การประเมินจึงชอบแล้ว