กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานลูกจ้างยื่นเอกสารต่อสรรพากรผิด คิดค่าปรับแล้วหักจากเงินเดือนได้ไหม ?

19 September 2022
ลูกจ้างยื่นเอกสารต่อสรรพากรผิดคิดค่าปรับแล้วหักจากเงินเดือนได้ไหม??
​​
​​เรื่องการหักเงินค่าจ้างนั้น ตามกฎหมายแล้วนายจ้างไม่สามารถหักได้ เว้นแต่เป็นการหักที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายที่นายจ้างสามารถหักค่าจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหายได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่
​​- ลูกจ้างกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
​​- และลูกจ้างยินยอมให้หักเงินค่าจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหายนั้น
​​1. กับคำถามที่ว่า ลูกจ้างยื่นแบบเสียภาษีต่อสรรพากรผิด ทำให้นายจ้างต้องเสียเบี้ยปรับ นายจ้างจึงมาหักเงินเดือนของลูกจ้างแทน สามารถทำได้หรือไม่ ?​
​​คำถามนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากลูกจ้างทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ที่มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี รวบรวมเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนยื่นแบบเสียภาษี ซึ่งความรู้เฉพาะตำแหน่งจะต้องมีความรู้ด้านภาษีอากร หากรวบรวมเอกสารหรือยื่นแบบเสียภาษีของนายจ้างไม่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายจนต้องเสียเบี้ยปรับ ถือว่าลูกจ้างได้กระทำการบกพร่องต่อหน้าที่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่นายจ้างสามารถหักเงินเดือนได้หากลูกจ้างให้ความยินยอมโดยทำเป็นหนังสือ แต่ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมนายจ้างก็ไม่สามารถหักได้
​​2. หากลูกจ้างกระทำการให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างมีมาตรการใดได้บ้าง?
​​นายจ้างอาจหักเงินประเภทอื่น ๆ ได้ เช่น เงินโบนัส เงินปันผล เบี้ยขยัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระ เงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
​ ​(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
​ ​(3) ชำระหนึ้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจาก ลูกจ้าง
​​(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
​ ​(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตาม มาตรา 70 เว้น แต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง