อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบว่าในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจฯ สอบสวนและมีคำสั่ง หากลูกจ้างมีสิทธิพนักงานตรวจฯจะแจ้งคำสั่งให้นายจ้างเพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดนายจ้างก็จะมีความผิดทางอาญา
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน จึงได้เขียนขั้นตอน ตลอดจนสิทธิหน้าที่ ที่แต่ละฝ่ายจะต้องปฏิบัติ เมื่อพนักงานตรวจฯ มีคำสั่ง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
1.กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจฯ สอบสวน ม.123
2.เมื่อพนักงานตรวจฯ ได้รับคำร้อง จะสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อสอบสวนแล้ว หากปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ พนักงานตรวจฯ จะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องจ่ายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง ม.124
หรือหากเห็นว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิพนักงานตรวจฯ มีคำสั่งและแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายทราบ
3. หากนายจ้างไม่จ่ายเงินโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจฯ จะมีความผิดอาญา ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.151 และมีความผิดทางอาญาฐานไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งกำหนดให้จ่ายเงินดังกล่าวด้วย
4. หากนายจ้างได้นำเงินมาจ่ายตามคำสั่งฯ ภายในเวลา 30 วัน การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างให้เป็นอันระงับไป
5. เมื่อพนักงานตรวจฯ มีคำสั่งแล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทฯของลูกจัาง ซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในเวลาดังกล่าวให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้ ม.125
6. ในกรณีที่นายจ้างได้นำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด ตาม ม.125 และได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแล้ว การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างให้เป็นอันระงับไป
ข้อสังเกต
ภายหลังจาก พนักงานตรวจฯ มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน หากนายจ้างไม่จ่ายภายในกำหนด 30 วัน และไม่ได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งฯ แม้ภายหลังนายจ้างจะไปไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันโดยจ่ายเงินให้กับลูกจ้างแล้ว ความผิดอาญาก็ไม่ระงับไป โดยลูกจ้างก็ยังต้องถูกดำเนินคดี ถ้าอธิบดี (ความผิดเกิดขึ้นท้องที่ กทม) หรือ ผู้ว่าราชการ (ความผิดเกิดขึ้นท้องที่อื่นนอกจาก กทม) เห็นว่านายจ้างไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรฟ้องร้องก็ให้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ แต่ถ้านายจ้างไม่ยินยอมชำระค่าปรับ ก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไป