กรณีที่ลูกจ้างลักทรัพย์นายจ้าง โดยลูกจ้างยินยอมให้ปรับหรือชดใช้ค่าเสียหายคืน และยอมให้เลิกจ้าง โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี ถามว่าทำได้หรือไม่
เค้าถามนี้น่าสนใจนะคะเพราะว่าลูกจ้างมองว่าในเมื่อคืนซับที่ขโมยมาให้แล้วชดใช้ค่าเสียหายแล้วทำไมตำรวจยังดำเนินคดีอยู่อีก??
ในส่วนนี้ขออธิบายดังนี้ค่ะ เนื่องจากความผิดฐานลักทรัพย์หรือลักทรัพย์นายจ้าง (เหตุฉกรรจ์โทษหนักขึ้น) นั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ที่กระทบต่อผู้ถูกกระทำ และกระทบต่อสังคมโดยรวม ที่รัฐจะต้องดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ผู้ที่ถูกกระทำนั้นจะไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้วก็ตาม ก็เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้
เมื่อมีการดำเนินคดีแล้ว หากลูกจ้างนำเงินไปวางเพื่อชดใช้หรือบรรเทาความเสียหาย ก็ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะนำไปประกอบการพิจารณาในการลดโทษ (โทษหนักจะได้เบาลง)
หากลูกจ้างนายจ้างทำสัญญา/ข้อตกลงในการรับเงินชดใช้ค่าเสียหายและไม่ดำเนินคดีฐานลักทรัพย์ สามารถบังคับได้หรือไม่??
ในการทำสัญญาหรือทำข้อตกลงไม่ให้ดำเนินคดีหรือให้การดำเนินคดีอาญาระงับ สามารถทำได้เฉพาะความผิดอาญาที่ยอมความได้เท่านั้น หากเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ถือเป็นการทำสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะตกเป็นโมฆะ
ฎีกาที่ 4351/2548 บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยกับ ว. ที่ให้โจทก์ทั้งสามถอนฟ้องคดีอาญาที่ยื่นฟ้องจำเลยกับ ว. ไว้ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150
ฎีกาที่ 958/2519 สัญญาที่จำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญากับบุตรจำเลยในการที่ทำให้บุตรโจทก์ตาย มีวัตถุประสงค์ให้ระงับคดีอาญาแผ่นดิน เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม) เป็นโมฆะ จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด
ความผิดอาญาแผ่นหรือความผิดอันยอมความได้ คืออะไร? ศึกษาเพิ่มเติมได้
หมายเหตุ : ความผิดอาญาแผ่นดิน คือ ความผิดที่หากมีการกระทำแล้วนอกจากจะมีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยตรงแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น รัฐจึงต้องเข้าดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ผู้ที่ถูกกระทำนั้น จะไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเป็น การป้องกันสังคมโดยรวม
ความผิดอันยอมความได้ คือ ความผิดที่หากมีการกระทำแล้วมีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยตรงเท่านั้น และไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น เมื่อผู้ที่ถูกกระทำไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว รัฐก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอีกต่อไป นอกจากนี้ประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญาของไทยในอดีตได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “ความผิดต่อส่วนตัว” ไว้ในมาตรา ๖ (๗) ว่า “ความผิดต่อส่วนตัว นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาความผิด ที่จะฟ้องขอให้ศาลพิจารณาทางอาญาได้แต่เมื่อผู้ที่ต้องประทุษร้ายหรือเสียหายนั้นได้มาร้องทุกข์ขอให้ว่ากล่าว”
เป็นไปได้ มีความจำเป็นใดๆ ขอให้หาทางออกอื่นอื่นก่อนนะคะ รักนะ แต่ไม่ลักทรัพย์