กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานได้ค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง เมื่อคำนวณแล้วได้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้างจะฟ้องได้หรือไม่ ?

12 September 2022
ยังคงตามข่าวกันต่อเนื่องสำหรับเรื่องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งตามข่าวกระทรวงแรงงาน จะเสนอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 13 กันยายน 2565 นี้ เป็นวาระปกติเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
​​เข้าสู่ประเด็นคำถามของเราที่ว่า ลูกจ้างรายชั่วโมง เมื่อคำนวณค่าจ้างต่อชั่วโมงแล้วได้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้ ลูกจ้างจะฟ้องได้หรือไม่ ?
​​ต้องบอกก่อนว่า กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง ที่บังคับใช้กับลูกจ้างทั่วไป ยังไม่มีประกาศฯ บังคับใช้เฉพาะ คงมีแต่ประกาศฯ อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง สำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา เท่านั้น
ซึ่ง ประกาศฯ ที่บังคับใช้ในปัจจุบันคือ ประกาศฯ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ/วัน ซึ่งคำว่า “วัน” นั้นหมายถึงเวลาทำงานปกติ ซึ่งไม่เกิน 7 ชั่วโมง สำหรับที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพฯ และไม่เกิน 8 ชั่วโมงสำหรับงานอื่นที่ไม่ใช่งานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพฯ ดังนั้น การคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง จึงคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันหารด้วยจำนวน 7 หรือ 8 ชั่วโมง แล้วแต่ประเภทของงาน
ดังนั้น สำหรับคำถามที่ว่า ลูกจ้างรายชั่วโมง เมื่อคำนวณค่าจ้างต่อชั่วโมงแล้วได้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้างจะฟ้องได้หรือไม่ ?
​​หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่ขาด โดยฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือลูกจ้างจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ โดยใช้สิทธิได้ทางใดทางหนึ่งจะใช้สิทธิพร้อมกัน 2 ทางไม่ได้ (ฎีกาที่ 570/2545)