ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีลูกจ้างรายหนึ่งส่งจดหมายมาให้ดูเนื้อความในจดหมายมาจากนายจ้างว่าด้วยเรื่องที่ขอเรียกเงินจากลูกจ้างเพราะลูกจ้างไปแจ้งกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฏหมาย ทำให้นายจ้างต้องเสียค่าปรับจึงมาเรียกเอาค่าปรับดังกล่าวกับลูกจ้าง
อ่านแล้วหัวจะปวด…คือนายจ้างทำผิดลูกจ้างก็ไปแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบนายจ้างจึงเสียค่าปรับคือถ้าคิดตามตรรกะไม่ต้องคิดเป็นตามกฏหมายก็ยังได้ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วเลยงงกับตรรกะนายจ้างท่านนี้ว่ามาเรียกเอาจากลูกจ้างได้อย่างไรพยายามคิดตามหลายตลบแต่ยังหาเหตุให้มันดูเข้าใจได้ไม่ได้เลยจริงๆ
อย่างที่ทราบการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และหากการเลิกจ้างนั้นไม่เหตุผลอันสมควร เช่น ลูกจ้างเห็นว่านายจ้างกระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น
1. ไม่แจ้งข้อมูลขึ้นทะเบียนนายจ้าง แจ้งข้อมูลผู้ประกันตน ลูกจ้างจึงไปร้องเรียนที่สำนักงานประกันสังคม
2. นายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างจึงไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการฯ
3. นายจ้างกระทำการอื่นใดที่ไม่ถูกต้อง ลูกจ้างจึงไปแจ้งและร้องเรียนนายจ้างต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทำให้นายจ้างไม่พอใจ จึงเรียกเก็บเงินตามที่ตัวเองถูกปรับ หรือเลิกจ้างลูกจ้างรายนั้น ถามว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่
ขอตอบดัง ๆ ว่า “ไม่ต้องจ่าย” และถ้าจะเลิกจ้างเพราะเรื่องดังกล่าวก็เป็นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน หรือฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้ เพราะการกระทำดังกล่าวนั้น ลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่นายจ้างจะนำเอาเหตุที่ลูกจ้างร้องเรียนนายจ้างมาเป็นเหตุเลิกจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ย่อมเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หมายถึง
1.เลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ
2.เลิกจ้างโดยมีสาเหตุแต่ก็ยังไม่สมควรถึงขนาดที่จะต้องเลิกจ้าง
3.เลิกจ้างโดยไม่พยานหลักฐานที่จะนำสืบข้อเท็จจริงให้สมกับข้ออ้างที่นายจ้างอ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิด
4.เลิกจ้างโดยไม่มีความผิด
ตอบเสร็จแล้วขอไปดมยาดมก่อนนะช่วงนี้โป๊ยเซียนเข้าได้หน้ามืดวินเวียนศรีษะอยู่เป็นระยะระยะ