ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย ทำให้กิจการขาดรายได้ ขาดทุน ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนในด้านต่างๆ รวมถึงการลดเงินเดือนพนักงานลง เพื่อประคับประคองให้กิจการดำเนินต่อไปได้
หากมีความจำเป็นต้องขอลดเงินเดือนพนักงานจริง ๆ ถามว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ขอแยกตอบในมุมของ ลูกจ้าง และ นายจ้าง ดังนี้
1. ลูกจ้าง
ลูกจ้างถูกเรียกเข้าไปคุยเพื่อขอลดเงินเดือน แบบนี้ลูกจ้างทำอย่างไรได้บ้าง หากเป็นผู้เขียนก็จะต้องถามและพิจารณาจากเหตุผลก่อน ดูสภาพแวดล้อมว่าบริษัทขาดทุนจริงหรือไม่อยู่ในสภาวะที่แย่จริงหรือเปล่า ถ้าพิจารณาแล้วนายจ้างไม่ได้ขาดทุนจริงดังนี้ ลูกจ้าง ก็มีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมให้ลดเงินเดือนได้ เพราะการขอลดเงินเดือนเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ที่นายจ้างจะทำไม่ได้ หากลูกจ้างไม่ยินยอม ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ม.20 หากนายจ้างลดเงินเดือนโดยลูกจ้างไม่ยินยอม ลูกจ้างก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้
แต่หากพิจารณาแล้วว่าสถานการณ์บริษัทมันก็แย่จริงๆหางานใหม่ในช่วงนี้ก็อาจจะยากอาจจะยอมลดเงินเดือนลงก็ได้แต่ให้ตกลงให้ชัดเจนโดยทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะลดลงกี่เดือนและกลับมาเท่าเดิมในเดือนที่เท่าไหร่เป็นการลดลงชั่วคราวไม่ใช่ถาวร
2. นายจ้าง
หากนายจ้างมีความจำเป็น และประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องสะสมมาหลายปี หากไม่ลดต้นทุน บริษัทก็ต้องปิดตัวลง ควรที่จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกจ้างให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้หาทางออกร่วมกัน เชื่อว่าลูกจ้างคงยินยอมให้นายจ้างลดค่าจ้างลง เพื่อฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน แต่หากลูกจ้างไม่ยินยอม การที่นายจ้างจะลดเงินเดือนลง นายจ้างต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยการ
2.1 ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ
2.2 ตัวแทนทั้งสองฝ่ายร่วมเจรจาภายในเวลา 3 วัน
2.3 ถ้าตกลงกันได้ให้ทําข้อตกลงเป็นหนังสือ และผู้แทนของทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อร่วมกัน ให้นายจ้างปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบ และนำข้อตกลงไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่ตกลงกันได้
2.4 ถ้าตกลงกันไม่ได้ หรือไม่มีการเจรจากันภายใน 3 วัน ให้ฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบโดยด่วนภายใน 24 ชั่วโมง
2.5 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจะนัดผู้แทนทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยโดยเร็วที่สุดโดยมีระยะเวลา 5 วัน
2.6 ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ห้ามนัดหยุดงานหรือปิดงาน ถ้าลูกจ้างนัดหยุดงานเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาจถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ เลย และถ้านายจ้างปิดงานก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาจมีโทษทางอาญาได้
2.7 ถ้าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันได้ให้ทําข้อตกลงเป็นหนังสือ และให้นายจ้างนําไปจดทะเบียนต่อพนักงาน ประนอมข้อพิพาทแรงงานภายใน 15 วัน
2.8 สําหรับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการที่สําคัญ เช่น การผลิตจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ลูกจ้างไม่มีสิทธินัดหยุดงาน และนายจ้าง ไม่มีสิทธิ์ปิดงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจะส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัย และ หากคู่กรณีไม่พอใจคําวินิจฉัย มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ เมื่อรัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วถือเป็นยุติทั้งสองฝ่าย ต้องปฏิบัติตาม
อ้างอิงข้อมูล : การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง:สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง