กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงาน” ค่าชดเชย ” คำนวณจากเงินเดือนเดิมที่เคยได้รับหรือเงินเดือนที่ถูกลดลงมา

3 September 2022
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว หากลูกจ้างใจดียอมถูกลดเงินเดือน ทำงานไปไม่ถึง 3 เดือน นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการต่อไป หรือนายจ้างเลิกจ้าง ดังนี้ ค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับนั้น จะคำนวณจากฐานเงินเดือนเดิม(ก่อนลด) หรือ คำนวณจากเงินเดือนที่ถูกลด
คลินิกกฎหมายแรงงานขอให้ความเห็นดังนี้ค่ะ
1.กรณีที่ลูกจ้างยินยอมให้ลดเงินเดือน ค่าชดเชย จะคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ถูกลด ซึ่งเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับ ทั้งนี้ ตาม ม.118
2. แต่ถ้าลูกจ้างไม่ได้ยินยอมในการลดเงินเดือน หากถูกเลิกจ้างนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนก่อนลด
……(สำหรับใครที่ต้องการฎีกาอ้างอิงไปตอบเจ้านายยาวหน่อยแต่อ่านได้จากด้านล่างนี้เลยนะคะ)…..
คำพิพากษาฎีกาที่ 5972 -5982/2553 ประกาศเลิกจ้าง จ่ายค่าชดเชยจากฐานค่าจ้างก่อนปรับลดค่าจ้าง ภายหลังยกเลิกประกาศและให้จ่ายค่าชดเชยจากฐานค่าจ้างใหม่ที่ปรับลดไม่ได้
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อ พ.ศ.2540 บริษัทจำเลยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จำเลยจึงตกลงกับลูกจ้างขอลดค่าจ้างลง โดยจำเลยได้ออกประกาศจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงาน ซึ่งมีหลักเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนก่อนปรับลด ตามประกาศเอกสารหมาย จล.5 ประกาศดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าชดเชยกรณีหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 และมาตรา 13 ต่อมาจำเลยออกคำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ตามเอกสารหมาย ล.1 ยกเลิกประกาศจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานเอกสารหมาย จล.5 เห็นว่าตามคำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ให้ยกเลิกประกาศจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานตามเอกสารหมาย จล.5 ซึ่งประกาศดังกล่าวมีหลักเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนก่อนปรับลด และจำเลยได้ออกประกาศดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่สมัครใจปรับลดเงินเดือนในการช่วยลดค่าใช้จ่ายของจำเลยหลังจากที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในปี 2540 ย่อมมีผลทำให้ลูกจ้างของจำเลยที่จำเลยเลิกจ้างได้รับค่าชดเชยโดยคำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนอัตราสุดท้ายหลังจากปรับลดแล้ว ทำให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยลดลงจึงไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เมื่อคำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 จำเลยในฐานะนายจ้างกระทำฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอย่างถูกขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 แล้ว คำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างย่อมไม่มีผลใช้บังคับกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทราบว่าจำเลยได้ออกคำสั่ง (พิเศษ)
1/2543 ตามคำสั่งเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งจะมีผลเป็นการยกเลิกสิทธิที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 จะพึงได้รับตามคำสั่งเดิม ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 เป็นบุคคลที่จะต้องได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากคำสั่งดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านต่อศาลภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 90/41 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2583 เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 มิได้โต้แย้งคัดค้านและยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวมาโดยตลอด คำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.