กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงาน“นายจ้างย้ายไปทำงานในตำแหน่งที่ไม่ถนัด ถือเป็นการบีบบังคับให้ลาออก อันเป็นการเลิกจ้างใช่หรือไม่?

29 August 2022
แฟนเพจที่เคารพถามมาว่า “นายจ้างย้ายไปทำงานในตำแหน่งที่ไม่ถนัด ถือเป็นการบีบบังคับให้ลาออก อันเป็นการเลิกจ้างใช่หรือไม่?
หากการย้ายตำแหน่งงานนั้น เงินเดือน สวัสดิการ หรืออำนาจบังคับบัญชาของลูกจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ยังไม่ถือเป็นการบีบบังคับให้ลาออก อันเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งหากไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงบัญญัติไว้ว่าห้ามเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ก็ย่อมไม่ผูกมัดนายจ้างที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งเดิมตลอดไป แต่จะเป็นเรื่องอำนาจในการบริหารงานบุคคล ที่นายจ้างสามารถทำได้ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2859/2526 วินิจฉัยว่า “การที่ลูกจ้างแจ้งความชำนาญหรือความถนัดของตนในการสมัครงานและนายจ้างมีคำสั่งรับลูกจ้างเข้าทำงานในแผนกใดแล้ว ไม่เป็นการผูกพันนายจ้างที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานในแผนกนั้นตลอดไป หากต่อมามีความจำเป็นมีความเหมาะสมนายจ้างมีอำนาจย้ายลูกจ้างไปทำงานในแผนกอื่นในบริษัทเดียวกันโดยลูกจ้างคงได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมได้”
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3539-3544/2536 วินิจฉัยโดยสรุปว่า “แม้ใบสมัครงานของโจทก์ทั้งหกได้แสดงความประสงค์จะทำงานในตำแหน่งใด แต่เมื่อจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานโดยไม่มีข้อผูกพันว่าจะให้โจทก์ทั้งหกทำงานในตำแหน่งนั้นตลอดไป จำเลยย้ายโจทก์ทั้งหกไปทำงานที่แผนกอื่นซึ่งเป็นงานระดับเดียวกัน โดยไม่ได้ลดค่าจ้างหรือผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งหกได้รับ จำเลยมีอำนาจทำได้”
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3539-3544/2536 การที่จำเลยรับโจทก์ทั้งหกเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่ตลอดมาไม่เป็นการผูกมัดจำเลยว่าจะต้องให้โจทก์ทั้งหกทำงานในตำแหน่งนั้น ตลอดไป งานในตำแหน่งพนักงานรีดผ้าเครื่องใหญ่แผนกห้องผ้าหรือซักรีดและงานตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดต่างก็ใช้พนักงานระดับต่ำสุดเป็นงานระดับเดียวกันไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ พนักงานสามารถสับเปลี่ยนแผนกได้ จำเลยย้ายโจทก์ไปอยู่แผนกทำความสะอาดเพราะพนักงานรีดผ้าโดยเครื่องอัตโนมัติที่ติดตั้งใหม่ไม่ต้องใช้ความชำนาญมากและมีพนักงานจากบริษัทอื่นรับจ้างทำหน้าที่ดังกล่าวในค่าจ้างที่ถูกกว่า เป็นเรื่องที่จำเลยจัดการบริหารงานบุคคลเพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์ของโจทก์ทั้งหกก็มิได้ลดลงเมื่อย้ายแผนก และไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งหกเป็นการกลั่นแกล้ง จึงไม่ถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง จำเลยมีอำนาจทำได้
เมื่อนายจ้างมีคำสั่งย้ายโดยชอบแล้ว ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ลูกจ้างจะอ้างว่าไม่ถนัดงานนั้นไม่ได้ หากคิดในแง่ดี ก็ถือว่าลูกจ้างได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้งานหลากหลายหน้าที่ ส่วนนายจ้างนั้น หากย้ายคนไปทำงานที่เขาไม่ถนัดไม่ชำนาญไม่เหมาะกับลูกจ้าง งานนั้นก็จะขาดประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลเสียหายแก่นายจ้างเอง ดังนั้น การย้ายที่จะมีผลดีต่อนายจ้าง ก็ต้องย้ายคนไปทำงานให้เหมาะสมแก่งาน จึงจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้าง