กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงาน“บีบออก” คืออะไร ?

23 August 2022
“บีบออก” คืออะไร ?
บีบออก คือ พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำการ ไม่ว่าจะเป็นการ ข่มขู่ กดดัน จนกระทั่งลูกจ้างทนไม่ไหวหรือจำใจจนต้องยื่นใบลาออกไปเอง เพื่อที่นายจ้างจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาล มีหลายคดีที่ศาลตัดสินว่า ลูกจ้างมิได้ยินยอมหรือสมัครใจลาออกจากงานเอง แต่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง หรือ ถือว่านายจ้างไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เข้านิยามการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
ซึ่งพฤติการณ์ใดบ้าง ที่ถือว่าเป็นการบีบออก คลินิกกฎหมายแรงงานรวบรวมมาให้แล้ว ไปอ่านกันโลดดด
1. นายจ้างแจ้งว่า “หากไม่ยื่นใบลาออก จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย”
ฎีกา4052/2548 จำเลยเป็นฝ่ายบีบบังคับให้โจทก์ยื่นใบลาออกโดยพูดว่าหากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะลูกจ้างย่อมเกิดความกลัวและยอมทำใบลาออกให้แก่จำเลย การยื่นใบลาออกของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะการพูดข่มขู่ของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับจำเลยให้โจทกลาออกทันทีฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะไม่ให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจะไม่จ่ายค่าจ้าง ดังนั้นพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็น การเลิกจ้าง
2. นายจ้างข่มขู่ว่า “หากไม่ลาออกจะถูกดำเนินคดี ประวัติจะด่างพร้อย”
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 841/2562 ลูกจ้างต่างด้าวถูกนายจ้างและผู้บังคับบัญชาบังคับเขียนใบลาออก โดยผู้บังคับบัญชาเรียกไปในห้องและให้เขียนใบลาออกมิฉะนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไทย โดยลูกจ้างมิได้สมัครใจอย่างแท้จริง พฤติการณ์เป็น “การเลิกจ้างโดยปริยาย” และเป็นการกระทำละเมิดต่อลูกจ้าง นายจ้างต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดร่วมกับผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายห้องพักชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิด ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๕๕๐,๐๐๐ บาท (๑๐ เดือน)
3. นายจ้างพูดจากดดัน บีบบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4240/2563 นายจ้างกล่าวหาว่าลูกจ้างรายวัน(หญิง) มีพฤติกรรมที่ส่อความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับ หัวหน้างาน แต่ลูกจ้างปฏิเสธไม่ยอมเขียนใบลาออก นายจ้างไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่า มีพฤติกรรมชู้สาวกัน จึงยกเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบจะมีต่อบุตรสาวของลูกจ้างซึ่งทำงานที่โรงงาน เดียวกันขึ้นพูดมาเพื่อกดดันบีบบังคับ จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างทนไม่ได้จึงเขียนใบลาออกด้วยความสมัครใจ จึงเป็นพฤติการณ์การเลิกจ้าง
4. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 632/2562 การที่นายจ้างจัดเตรียมหนังสือเลิกจ้าง รายละเอียดการจ่าย ค่าชดเชยตามกฎหมายไว้ก่อนเช่นนี้ รวมทั้งมีบันทึกภายในขอรหัสผ่านคืนจากลูกจ้าง พร้อมทั้งปิดล็อค ห้องทำงานเพื่อไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน แสดงว่านายจ้างเตรียมการที่จะเลิกจ้างลูกจ้างไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยนายจ้าง เรียกลูกจ้างไปพบและแจ้งว่า ผู้บริหารมีมติให้เลิกจ้าง หากไม่ยอมลงลายมือชื่อ ในใบลาออกก็จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า ลูกจ้างมิได้ลาออก แต่เป็นนายจ้างต้องการ เลิกจ้าง
5. คำพิพากษาศาลฎีกาที่2543/2557 (บังคับเขียนใบลาออก) เรื่อง นายจ้างบีบคั้นข่มขู่ลูกจ้างให้เกิดความกลัวจนลูกจ้างยอมเขียนใบลาออกจากงาน โดย ลูกจ้างไม่สมัครใจลาออก การลาออกจึงเป็นโมฆียะ และนับแต่วันนั้นนายจ้างให้ลูกจ้างคืนบัตรพนักงานทำให้ ลูกจ้างเข้าไปทำงานไม่ได้อีก ลูกจ้างนำคดีมาฟ้องเป็นการบอกล้างโมฆียกรรม ถือว่านายจ้างได้เลิกจ้าง ลูกจ้างในวันดังกล่าว