ว่าจะมูฟออน แต่ก็มูฟออนเป็นวงกลม กับคำถามหมวด ลาป่วย
สำหรับคำถามที่ลูกจ้างลาทำ GIFT ที่ต้องพักตามความเห็นแพทย์ แต่นายจ้างให้ลูกจ้างแลกเวรแทนการใช้วันลาป่วยนั้น นายจ้างทำได้หรือไม่นั้น ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
1. นายจ้างไม่สามารถทำได้ เพราะกระบวนการในการทำ GIFT เป็นการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก และการพักตามความเห็นแพทย์ก็เป็นการพักตามการรักษาของแพทย์ ซึ่งลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.32 ดังนั้น นายจ้างจะมาสั่งให้แลกเวรแทนการใช้วันลาป่วย “ไม่ได้” ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวได้ และไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้าง นายจ้างจะลงโทษทางวินัย หรือตัดค่าจ้างไม่ได้
2. หากถูกเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม ม.118และนายจ้างอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้
อธิบายเพิ่มเติมว่าการทำกิ๊ฟท์ (GIFT) คืออะไร ?
การทำ GIFT นั้น เป็นกระบวนการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ที่รักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์
ที่มีการเก็บไข่ออกมานอกร่างกายของฝ่ายหญิง นำมาผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้นอีก 2-3 วัน หรือการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกายจนถึงระยะฝังตัว (เรียกตัวอ่อนระยะ “บลาสโตซิส”) ซึ่งต้องใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงนาน 5-6 วัน แล้วจึงนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกในครรภ์ ซึ่งในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนนั้น แพทย์จะกำหนดให้ผู้เข้ารักษาต้องพักผ่อน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ต้องทำงานหนัก และไม่ให้เกิดความเครียด เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัวอ่อน
อย่างที่เคยกล่าวไว้ในหลาย ๆ บทความ อยากให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าและคุยกันด้วยเหตุผล สำหรับเคสนี้ เข้าใจลูกจ้างเป็นอย่างยิ่ง เพราะลูกจ้างต้องการที่จะมีบุตร ซึ่งกระบวนการรักษาขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน ลูกจ้างต้องงดทำงานหนัก ต้องไม่เครียด เพราะมีผลกระทบต่อการฝังตัวอ่อน เพราะลูกจ้างย่อมคาดหวังในการที่จะให้ได้บุตรสูงมาก อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงมากกกกก สำหรับนายจ้าง เมื่ออ่านบทความนี้ ก็อยากให้มีใจที่เมตตา หากว่าการลาป่วยนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบกับงานเกินสมควร ก็ควรที่จะอนุญาตให้ลูกจ้างลาป่วย ถือเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนะ
อ้างอิงข้อมูล
วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก (Fertility and Infertility Treatment) : โรงพยาบาลกรุงเทพ