สำหรับคำถามที่ว่า สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี ลาออกก่อนกำหนดทำได้ไหม จะถูกฟ้องหรือไม่?
คำตอบยาวนิดทนอ่านนะ
หลักต้องบอกก่อนว่า “ออกได้ แต่มีโอกาสถูกฟ้อง” เพราะเป็นไปตามหลัก“สัญญาต้องเป็นสัญญา” Pacta Sunt Servanda เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำขึ้น หรือหากลูกจ้างจะลาออกก็ “อาจถูกฟ้องได้” ถ้าในสัญญากำหนดเงื่อนไข และกำหนดเรื่องค่าเสียหายไว้ เช่น หากในสัญญาระบุว่าต้องทำงานกับนายจ้างเป็นเวลา 1 ปี หากลาออกก่อนครบกำหนดลูกจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้างเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท แบบนี้นายจ้างสามารถฟ้องได้ แต่จะฟ้องได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ศาลจะพิจารณาว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ ถ้าสูงเกินศาลก็มีอำนาจปรับลดจำนวนลงได้พอสมควร
มีแนวคำพิพากษามาให้ศึกษา ฎีกาที่ 7620/2559
การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380
ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร
ตอบให้แล้ว น้องๆที่ถามเข้ามาก็ลองไปพิจารณาดูนะคะว่า จะลาออกก่อนครบกำหนดในสัญญาหรือเปล่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และถ้าเป็นไปได้ลองบอกนายจ้างถึงความจำเป็นที่ต้องออก คุยกันดีๆ อย่าหนี อย่าหาย ไปลามาไหว้ อยู่ให้ดีใจ ไปมห้คนคิดถึง นะน้องนะ