กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานนายจ้างอ้างว่า ” หักเงินเพื่อส่งประกันสังคม ” แต่ไม่ส่งให้จริง ลูกจ้างก็ยังมีสิทธิของประกันสังคม หาก….

11 August 2022
สำหรับเรื่องที่นายจ้างหักเงินลูกจ้าง แล้วอ้างว่าต้องนำส่งประกันสังคม แต่นายจ้างไม่นำส่งจริง อันนี้ผู้เขียนขอบอกว่า “อย่าหาทำ” เพราะนอกจากนายจ้างจะมีความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ แล้ว นายจ้างยังจะต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังและยังต้องรับภาระจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย
แล้วลูกจ้างที่โดนหักเงินดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมหรือไม่ คลินิกกฎหมายแรงงานขอตอบให้หายข้องใจว่า
1. ลูกจ้างที่โดนหักเงินสมทบ กฎหมายกำหนดไว้เลยว่า “ให้ถือว่าได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างได้หักค่าจ้าง” ไม่ว่านายจ้างจะนำส่งหรือไม่นำส่งก็ตาม ทั้งนี้ตาม ม.47 หากเป็นกรณีที่ลูกจ้างเข้าทำงานใหม่และไปตรวจสอบที่สำนักงานประกันสังคมไม่มีข้อมูลการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน โดยสิทธิจะเกิดขึ้นได้โดยลูกจ้างต้องดำเนินการดังนี้
1.1 ลูกจ้างจะต้องไปแจ้งสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ว่านายจ้างไม่ยอมนำส่งเงินสมทบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ลูกจ้างจะต้องมีการเก็บหลักฐานรายการการหักเงินค่าจ้าง สลิปเงินเดือน หรือสเตรทเม้นไว้เป็นหลักฐาน ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงจะได้รับสิทธิประกันสังคมนับแต่วันที่มีการหักค่าจ้างนั้น (ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจจะมีลูกจ้างบางรายอาจจะร่วมกันกับนายจ้างแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม)
แต่ถ้าหากว่าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้ว หากนายจ้างหักค่าจ้างไว้แต่ไม่นำส่งเงินสมทบก็ถือว่าลูกจ้างจ่ายเงินสมทบแล้ว ตาม ม.47 ที่ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ทันที (ฎีกาที่ 351/2561)
2. เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการหักค่าจ้างเพื่อจ่ายเงินสมทบจริง ลูกจ้างก็จะมีสิทธิประกันสังคมนับแต่วันที่มีการหักค่าจ้างนั้น
ส่วนนายจ้างก็จะได้รับโทษทางอาญา ฐานไม่นำส่งเงินสมทบ ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างและไม่แจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับลูกจ้าง และต้องจ่ายเงินสมทบและจ่ายเงินเพิ่ม ดังนี้
2.1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.96)
2.2 ต้องนำส่งเงินสมทบย้อนหลังตามจำนวนที่ยังไม่นำส่งภายใน 30 วันตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเข้ากองทุนประกันในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน และเข้ากองทุนเงินทดแทน ร้อยละ 3 ต่อเดือน ของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่ง หรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ
3. ในกรณีที่นายจ้างยังเพิกเฉย ไม่นำส่งเงินสมทบและเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) ที่ค้างชำระสำนักงานประกันสังคมจะออกคำสั่งยึดอายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้าง
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ