กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานควบรวมกิจการ “เปลี่ยนตัวนายจ้าง” ไม่ไปได้มั้ย ? ได้ค่าชดเชยหรือเปล่า ?

1 August 2022
ในการประกอบธุรกิจ เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ที่นายจ้างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โอน หรือ ควบรวมกิจการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นายจ้างก็มีความจำเป็นที่จะต้องโอนสิทธิความนายจ้างและลูกจ้างไปยังกิจการใหม่ แล้วแบบนี้ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่รู้ว่านายจ้างใหม่ จะจ่ายเงินเดือนต่ำกว่าเดิมหรือไม่ หรือจะตัดลดสวัสดิการต่าง ๆ หรือเปล่า แบบนี้ลูกจ้างไม่ไปทำงานกับนายจ้างใหม่ได้หรือไม่
คลินิกกฎหมายแรงงาน ขอคลายความกังวล และตอบเป็นข้อ ๆ ให้ดังนี้ค่ะ
1. นายจ้างควบรวมกิจการ ที่เป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้าง ไม่ไปได้หรือไม่
คำตอบคือ : “ได้” เพราะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.13 กำหนดไว้ว่า กรณีที่มีการการควบรวมกิจการ การเปลี่ยนแปลง หรือการโอนกิจการ หากมีผลทำให้ลูกจ้างไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าวนั้นต้อง
1.1 ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
1.2 และให้สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป
1.3 โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ กล่าวคือ อายุงานนับต่อเนื่อง (ฎ. 547-548/30) เงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม เคยได้รับสวัสดิการอย่างไรก็ต้องได้รับตามเดิม
2. หากลูกจ้างไม่ยินยอม ผลเป็นอย่างไร
2.1 ถือได้ว่านายจ้าง “เลิกจ้าง” ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม ม.118 และสิทธิประโยชน์อันเกิดจากการเลิกจ้างจากนายจ้างได้
3. หากนายจ้างทำสัญญามีข้อความระบุว่า ในกรณีที่นายจ้างมีการเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบรวมกิจการ หากลูกจ้างไม่ยินยอมย้ายไปทำงานถือว่าลูกจ้างประสงค์ “ขอลาออก” ข้อตกลงดังกล่าวบังคับได้หรือไม่
ตอบว่า “ไม่ได้” เพราะข้อตกลงดังกล่าวนั้น ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงาน ม.13 ข้อตกลงนั้นเป็น “โมฆะ” ไม่สามารถบังคับได้
สำหรับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้การเปลี่ยนตัวนายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างยินยอมด้วยก็เนื่องจากการเปลี่ยนตัวนายจ้าง อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น ลูกจ้างถูกลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ หรือลูกจ้างอาจจะเดินทางไปทำงานกับนายจ้างที่ตั้งในที่ใหม่ที่ไกลกว่าเดิม ฉะนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้าง กฎหมายจึงกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องสมัครใจ ยินยอมไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่ด้วย มิใช้ให้อำนาจนายจ้างฝ่ายเดียวที่จะสั่งให้ไปทำงาน
และสำหรับใครที่ขี้เกียจอ่านหนังสือ ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ