เรื่องการลาออกไม่บอกล่วงหน้าหรือบอกไม่ครบตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งเคยแชร์ในมุมของลูกจ้างไปแล้วหลายครั้งว่าลูกจ้างยังคงมีสิทธิ์ได้รับเงินตามวันที่ทำงานไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามในอีกมุมนึงกรณีที่ลูกจ้างแจ้งปุ๊ป ออกปั๊ป หาย ไลน์ไปไม่ตอบ ขาดการติดต่อไปเลย แบบนี้นายจ้างก็คงต้องปวดหัวไม่ใช่น้อย เพราะไหนจะต้องหาคนมาทำงานแทน ต้องสอนงานใหม่ ส่งงานลูกค้าไม่ทัน ปัญหาสารพัด แบบนี้นายจ้างจะฟ้องลูกจ้างเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ ?
ตอบชัดๆเลยว่า “ฟ้องได้” เพราะเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อพิพาทตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
1.นายจ้างได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง ระเบียบ ข้อบังคับ ว่าการแจ้งขอลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า เช่น สัญญาจ้างกำหนดให้แจ้งลาออกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน หากไม่แจ้งล่วงหน้าลูกจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราเงินเดือน
2.และการลาออกโดยผิดสัญญา ระเบียบ ข้อบังคับ นั้น ทำให้นายจ้างเสียหาย เช่น
– นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาคนมาทำงานใหม่ เช่น เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมสำหรับตำแหน่งที่ต้องทำงานในลักษณะเฉพาะ
– ค่าเสียหายจากการผลิตสินค้าส่งลูกค้าไม่ทันกำหนด ซึ่งเป็นผลมาจากที่ลูกจ้างนั้นลาออกไปโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นต้น
3. โดยนายจ้างต้องพิสูจน์ต่อศาลว่าได้รับความเสียหายอย่างไร หากพิสูจน์ไม่ได้ศาลก็ยกฟ้อง
4. ในกรณีที่กำหนดค่าเสียหายไว้ในสัญญาตามข้อ 1. ซึ่งเป็นลักษณะการกำหนดเบี้ยปรับ นายจ้างสามารถฟ้องบังคับตามสัญญาได้ แต่ถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดได้โดยพิจารณาถึงทางได้เสียของนายจ้าง
5. หากลาออกไม่บอกล่วงหน้า ลาออกไม่ถูกต้อง ผิดระเบียบ หักค่าจ้างหรือเงินประกัน เพื่อชำระค่าเสียหายได้หรือไม่
– ค่าจ้างหักไม่ได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.76
– เงินประกันการทำงาน ก็หักไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นเงินประกันความเสียหายอันเนื่องมาจากการทำงาน ตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งความเสียหายกรณีลาออกไม่ถูกต้องตามสัญญา หรือตามระเบียบ เป็นความเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการผิดสัญญา ไม่ใช่ความเสียหายอันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานในตำแหน่งหน้าที่
รู้อย่างนี้แล้ว ลูกจ้างจะลาออกก็ควรต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามระเบียบ ตามสัญญา เพื่อที่นายจ้างจะได้มีเวลาในการจัดหาคนมาทำงานแทน ใจเค้าใจเราเนอะ ไปลา-มาไหว้ ให้คอนเซปเสร็จมาให้ดีใจไปให้คิดถึงจะเริ่ดที่สุด…เชื่อฝ้ายเหอะ ฟ้องมาเยอะทั้งลูกจ้างและนายจ้างนั่นแหละ
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ