กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงาน“ นายจ้างให้เลื่อนตำแหน่งแต่ไม่ขึ้นเงินเดือนให้เรามีสิทธิ์ปฏิเสธได้ไหม “

27 July 2022
แฟนเพจท่านนึงถามเข้ามาหลายหน ยังไม่ได้ตอบสักที
วันนี้ฤกษ์งามยามดีมีเวลามาเขียน จึงมาขอให้ความเห็น สำหรับคำถามที่ว่า
“ นายจ้างให้เลื่อนตำแหน่งแต่ไม่ขึ้นเงินเดือนให้เรามีสิทธิ์ปฏิเสธได้ไหม”
สำหรับคนทำงาน ก็คาดหวังที่จะเติบโตในสายงาน ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็ต้องเพิ่มขึ้น บริษัทที่มีมาตรฐานส่วนใหญ่จะมีหลักเกณฑ์ในการปรับเงินเดือนเมื่อพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ที่บางบริษัทไม่มีการปรับเงินเดือนให้ หากเป็นแบบนี้ลูกจ้างจะสามารถปฏิเสธได้หรือไม่ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างหรือเปล่า ?
จะปฏิเสธ “ได้” หรือ “ไม่ได้” ขอแยกตอบเป็นประเด็น ดังนี้
1. กรณีปฏิเสธ “ได้”
หากว่าบริษัทมีระเบียบหลักเกณฑ์ในการปรับเงินเดือน เมื่อมีการปรับเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน เช่น นาย A ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จากพนักงานปฏิบัติงาน เป็น พนักงานอาวุโส โดยบริษัท B มีระเบียบหลักเกณฑ์ในการปรับเงินเดือนเมื่อมีการเลื่อนตำแหน่งว่าให้ปรับขึ้นเงินเดือน 10% ดังนี้ หากบริษัท B ไม่ปรับเงินเดือนให้ตามระเบียบ นาย A ก็สามารถปฏิเสธไม่ไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าวได้ และ บริษัท B จะเลิกจ้างเพราะเหตุที่นาย A ปฏิเสธ ว่าฝ่าฝืนคำสั่งไม่ได้ หากเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นตามกฎหมาย
2. กรณีปฏิเสธ “ไม่ได้”
หากบริษัทไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ในการปรับเงินเดือนในกรณีปรับเลื่อนตำแหน่ง ผู้เขียนมีความเห็นว่า นายจ้างสามารถทำได้ เพราะนายจ้างไม่ได้ลดเงินเดือน ซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หากลูกจ้างปฏิเสธ ไม่ไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าวก็อาจจะมีความผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งและอาจจะมีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ได้ ดังนี้ หากนายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างก็อาจจะไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าชดเชย หากนายจ้างมีหนังสือเตือนแล้วและลูกจ้างยังยืนยันไม่ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า การปรับเลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างก็ดูจะไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างเท่าใดนัก เพราะตำแหน่งที่สูงขึ้น ความรับผิดชอบก็ย่อมสูงขึ้นตามลำดับ หากนายจ้างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจไม่สามารถเพิ่มเงินเดือนให้ได้ ก็อาจจะปรับเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หรือปรับเพิ่มสวัสดิการอื่น ๆ ให้กับลูกจ้างก็น่าจะเป็นการดี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างได้ทำงานให้กับนายจ้างไปนาน ๆ เพราะหากนายจ้างปรับเลื่อนตำแหน่งให้กับลูกจ้างผู้นั้น ก็แสดงว่าลูกจ้างนั้นทำงานมีประสิทธิภาพ จริงไหมคะเจ้านายยย
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ