หลายหลายท่านถามเข้ามาใน Inbox ว่าหลังจากอ่านบทความต่างๆแล้วก็ทราบว่านายจ้างของตัวเองออกระเบียบปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายเลย แบบนี้มีสิทธิอย่างไรบ้าง ทำไงได้บ้างคะ อาจารย์ฝ้ายคนสวย (อันหลังไม่มีใครพูด เลยพูดเอง..อยากสวยแบบไม่ต้องรอคนอื่นมาชม จะสวยไม่สวยก็จะชมตัวเอง ใครจะทำไมชั้นอ่ะ!!)
ขอรวมไว้ในโพสต์นี้เลยนะคะ
ถ้าลูกจ้างพบว่านายจ้างกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน เช่น ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างจะทำอย่างไรได้บ้าง?
เป็นอีกคำถามที่เราได้รับคำถามบ่อยๆ ทาง inbox เช่น นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง/ot ทำยังไงได้บ้างคะ? โดนเลิกจ้างแล้วนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ทำยังไงบ้างคะ? และอีกคำถามอื่นๆ มากมาย ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้ล้วนขัดต่อกฎหมายแรงงานทั้งสิ้น ดังนั้นลูกจ้างคงสงสัยว่า เราจะทำอะไรได้บ้างล่ะ? วันนี้เพจเรามีคำตอบมาฝากค่ะ
เมื่อลูกจ้างพบว่านายจ้างกระทำการผิดต่อกฎหมาย ลูกจ้างสามารถเรียกร้องสิทธิของตนอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ของนายจ้างได้โดย
1. ลูกจ้างนำคดีไปฟ้องศาลแรงงาน กล่าวคือ ลูกจ้างสามารถเรียกร้องได้โดยไปที่ศาลแรงงานพร้อมพยานหลักฐานที่ลูกจ้างมีอยู่เลยค่ะ โดยแจ้งพนักงานว่ามายื่นฟ้อง จะมีพนักงานบริการทำคำฟ้องให้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีต่อศาลนั้นย่อมใช้เวลานาน เนื่องจากจำนวนคดีเยอะและการเลื่อนวันนัดด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้อาจได้รับความไม่สะดวกอยู่บ้างค่ะ
2. ลูกจ้างยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงาน ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนา หรือท้องที่ที่ลูกจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้ โดยพนักงานตรวจแรงงานจะต้องเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง และพยานโดยเร็ว ก่อนออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน หรือยกคำร้องทุกข์ของลูกจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกระบวนการนี้ต้องกระทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน นับแต่วันรับคำร้องทุกข์ไว้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากคู่กรณีไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ก็สามารถอุทธรณ์โดยการฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานได้เช่นกันค่ะ
ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถเลือกใช้สิทธิได้ทางใดทางหนึ่งเท่านั้นนะคะ จะไปเรียกร้องสองที่พร้อมกันไม่ได้ค่ะ
————
Info@legalclinic.co.th