กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานนายจ้าง “ย้ายสถาณประกอบการ” ไม่ไป ถือว่าผิดมั้ย?

15 July 2022
นายจ้างย้ายสถานประกอบการ หากลูกจ้างไม่ไป จะถือว่าลูกจ้างผิดหรือไม่จนถึงขั้นเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่สอบถามกันเข้ามาบ่อยทั้งในฝั่งนายจ้างและลูกจ้างวันนี้คลินิกกฎหมายแรงงานจึงมาขออธิบายให้ฟังแบบไม่สั้น ดังนั้นค่อยๆอ่านกันนะคะ
ก่อนอื่นขออธิบายว่า การย้ายสถานประกอบการในที่นี้ คือ ย้ายจากที่เก่าไปที่ใหม่ เช่น เดิมบริษัทตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อมาไปซื้อที่ดินและสร้างบริษัทใหม่ที่จังหวัดระยอง จึงปิดกิจการที่กรุงเทพฯและย้ายไปจังหวัดระยอง (ไม่ใช่กรณีย้ายสาขาหรือปิดสาขาเดิมไปอีกสาขาหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว อันนี้จะเป็นคนละกรณีกับการย้ายสถานประกอบการ)
ดังนั้น หากการย้ายสถานประกอบการนั้น กระทบต่อการดำรงชีพของลูกจ้าง โดยหากลูกจ้างไม่ประสงค์ไปทำงานในที่ทำงานใหม่ ลูกจ้างก็ไม่ได้ผิด และในกรณีที่นายจ้างเข้าใจว่า “ ก็ระบุไว้ในสัญญาจ้างแล้วหนิ ว่านายจ้างมีสิทธิย้ายตำแหน่งงานหรือย้ายให้ไปทำงานที่ไหนก็ได้ และลูจ้างก็เซ็นยินยอมไปแล้ว ดังนั้นจะสั่งย้ายไปไหนก็ได้” แน่นอนค่ะว่าสัญญานั้นสามารถบังคับได้ค่ะ “แต่ไม่ใช่ทุกกรณี” การย้ายก็ต้องมีหลักเกณฑ์ด้วยหลักเกณฑ์ในการย้ายหรือชอบด้วยกฎหมายเป็นยังไงเรียนเชิญอ่านโพสต์ในคอมเม้นแรก
อย่างไรก็ตามหากการย้ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ลูกจ้างเองได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายไม่ว่าในแง่ของการดำรงค์ชีวิตค่าใช้จ่ายหรือแม้แต่ครอบครัว ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยต้องแจ้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการ จึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองฯ ม.120
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าการย้ายสถานประกอบนั้น ไม่กระทบต่อการดำรงชีพของลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างไม่ไปทำงาน หรือหากกระทบแต่ลูกจ้างก็ไม่ได้แจ้งแก่นายจ้างหรือไม่บอกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างแจ้งให้ทราบ ดังนี้ ลูกจ้างก็อาจมี “ความผิด” ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหรือละทิ้งหน้าที่ โดยนายจ้างอาจเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
อ่ะ!!!  ร่ายไปพอสมควร ขออนุญาตสรุป เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ถึงหลักเกณฑ์การย้ายสถานประกอบการว่านายจ้างและลูกจ้าง มีสิทธิ – หน้าที่ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง
1.นายจ้าง
– หากย้ายสถานประกอบการที่กระทบต่อการดำรงชีพของลูกจ้าง ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนย้าย
– นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 หากลูกจ้างไม่ประสงค์ย้ายและลูกจ้างได้แจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้ง
– นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หากไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการ
– นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด
– ในกรณีที่ลูกจ้างไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน แล้วมีคำสั่งให้นายจ้างจ่าย หากนายจ้างจะอุทธรณ์คำสั่งต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยต้องวางเงินตามคำสั่งจึงจะฟ้องคดีต่อศาลได้
2. ลูกจ้าง
– หากการย้ายสถานประกอบการกระทบต่อการดำรงชีพ ลูกจ้างไม่ประสงค์ไปทำงานด้วย ต้องแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือวันที่ย้ายสถานประกอบการ
– หากบอกเลิกสัญญาจ้างภายในกำหนดเวลา ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหากนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
– หากนายจ้างไม่จ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน
– หากคณะกรรมการฯ มีคำสั่งว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างมีสิทธิอุทธรณ์โดยยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 นับแต่วันทราบคำสั่ง
อธิบายทั้งหมดไปแล้วนะคะถ้าจำไม่ได้ก็แชร์หรือเซฟเก็บไว้ได้เลยแต่ถ้าขี้เกียจอ่านขี้เกียจแชร์แล้วเกิดประเด็นปัญหาข้อกฎหมายต้องการที่ปรึกษาที่ไว้วางใจได้นึกถึงฝ้ายบ้างนะคะ
โดยสามารถติดต่องานขอใช้บริการได้ที่ info@legalclinic.co.th