เคยเจอบ้างไหม นายจ้างสั่งงาน เนียนซื้อข้าวซื้อขนมมาให้แต่ไม่จ่าย OT หรือบอกว่าพรุ่งนี้มาสายได้…. แบบนี้ก็ได้เหรอ!?
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 กำหนดว่า “ค่าล่วงเวลา หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรา 5 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า นายจ้างต้องจ่าย “เงิน” เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาของลูกจ้าง ดังนั้นค่าล่วงเวลาจึงหมายถึงเงินเท่านั้น สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างจึงไม่ใช่ค่าล่วงเวลา
ดังนั้น พวกค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือให้ลูกจ้างได้หยุดเพิ่มเติมอีกวันแลกกับการทำโอที ไม่สามารถนำมาจ่ายเป็นค่าล่วงเวลาได้นะคะ
แต่หลายคนอาจสงสัยว่า แต่ถ้าหากลูกจ้างยินยอมรับสิทธิประโยชน์อย่างอื่นแทนเงินแบบนี้จะถือว่าลูกจ้างยินยอมรับประโยชน์อย่างอื่นแทนค่าจ้างล่วงเวลาได้หรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องทราบว่า กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกจ้างยินยอมรับประโยชน์อย่างอื่นแทนค่าล่วงเวลา ก็ไม่ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าล่วงเวลาแล้ว
หลายครั้งลูกจ้างยอมรับค่าล่วงเวลาด้วยการรับเป็นวันหยุดแทนเพราะไม่มีอำนาจต่อรองและไม่อยากเสียงาน อันนี้ นายจ้างต้องพึงทราบไว้ว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานกัน นายจ้างไม่อาจยกความยินยอมของลูกจ้างในการยอมรับค่าล่วงเวลาเป็นวันหยุดมาอ้างได้
สรุป ค่า OT ต้องจ่ายเป็นเงินเท่านั้น ต่อให้ลูกจ้างยินยอมรับเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงินก็ทำไม่ได้นะคะ
————-
ติดต่องานจ้าง
สอบถามค่าบริการได้ทาง
Info@legalclinic.co.th
#ทนายแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน
#PDPA #พรบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
#คลินิกกฎหมายแรงงาน
#ทนายฝ้ายคลินิกกฎหมายแรงงาน