มีคำถามจากแฟนเพจเข้ามาว่าตนเองได้เซ็นสัญญาจ้างแรงงาน โดยในสัญญาจ้างแรงงานระบุว่านายจ้างมีสิทธิ์โอนย้ายตำแหน่งหรือหน้าที่การงานของลูกจ้างในบริษัทหรือบริษัทในเครือตามที่นายจ้างจะเห็นสมควรได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจ้างมีคำสั่งโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานกับบริษัทในเครือ และให้ตำแหน่งงานในบริษัทเดิมสิ้นสุดลง แต่ลูกจ้างไม่ยินยอมไป จึงถูกนายจ้างเลิกจ้าง กรณีนี้ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
คลินิกกฎหมายแรงงานขอให้ความเห็น ดังนี้
การโอนย้ายตำแหน่งงานแม้จะเป็นอำนาจในทางการบริหารของนายจ้าง แต่การที่นายจ้างโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานกับบริษัทในเครือ ซึ่งถือว่าเป็นคนละนิติบุคคลกัน จึงเข้ากับกรณีของการเปลี่ยนตัวนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 13 ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน แม้ในสัญญาจ้างแรงงานจะระบุให้นายจ้างมีสิทธิ์โอนย้ายตำแหน่งงานหรือหน้าที่การงานของลูกจ้างในบริษัทหรือบริษัทในเครือตามที่นายจ้างจะเห็นสมควรได้ก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้สิทธิ์นายจ้าง แต่ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว เมื่อนายจ้างโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือและให้ตำแหน่งในบริษัทสิ้นสุดลง โดยลูกจ้างไม่ยินยอม จึงเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิด นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่ลูกจ้าง(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 3-6/2563)
————-
ติดต่องานจ้าง
สอบถามค่าบริการได้ทาง
Info@legalclinic.co.th#ทนายแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน
#PDPA #พรบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
#คลินิกกฎหมายแรงงาน
#ทนายฝ้ายคลินิกกฎหมายแรงงาน
กฏหมายแรงงานการเปลี่ยนนายจ้าง หากไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
30 December 2021