ประกันการทำงาน มีไว้เพื่อชดใช้ความเสียหายในการทำงาน ไม่ใช่ประกันการผิดสัญญา!!
มีคำถามว่า ในการทำงานร่วมกันลูกจ้างได้มอบหลักประกันให้นายจ้าง เพื่อประกันการทำงานตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 10 แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ และ ในสัญญามีกำหนดว่าอีกว่าลูกจ้างต้องทำงานร่วมกับนายจ้างเป็นเวลา x ปี ต่อมาลูกจ้างมีความจำเป็นซึ่งขอลาออกก่อนครบกำหนดระยะเวลาทำงานที่ตกลงร่วมกันไว้ในสัญญานายจ้างจึงยึดหลักประกันการทำงานดังกล่าวไว้ เช่นนี้ในการทำถูกหรือไม่ในเรื่องเดียวกันนี้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วในปี 2558 ลองมาอ่านและทำความเข้าใจร่วมกันไปนะคะ
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2558 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า นายจ้าง กับ ลูกจ้าง ทำหนังสือสัญญาประกันความเสียหาย ระบุว่า “ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี หากทำงานไม่ครบเวลา 1 ปี ลูกจ้างยินดีให้นายจ้างยึดเงินประกันความเสียหาย ต่อมา ลูกจ้างลาออกจากงาน ก่อนครบกำหนดเวลา 1 ปี (เหมือนกันถามของแฟนเพจเป๊ะๆ)
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การทำสัญญาดังกล่าวที่มีข้อตกลงให้ลูกจ้างทำงานอย่างน้อย 1 ปี หากผิดสัญญายินยอมให้นายจ้างยึดเงินประกัน ถือเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้าง ไม่ใช่เป็นเรื่องการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 10 เพราะ มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ…..”
ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ที่ว่า หากลูกจ้างทำงานไม่ครบ 1 ปี ยินดีให้นายจ้างยึดเงินประกัน จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151
สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ ประกันการทำงาน มีไว้เพื่อชดใช้ความเสียหายในการทำงาน ไม่ใช่ประกันการผิดสัญญา!!
————-
#ทนายแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน
#PDPA #พรบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
#คลินิกกฎหมายแรงงาน
#ทนายฝ้ายคลินิกกฎหมายแรงงาน
กฏหมายแรงงานแม้ลาออกก่อนกำหนด นายจ้างก็ห้ามยึดหลักประกันการทำงานนะ
10 November 2021