มีแฟนเพจถามว่าพี่คนสวยคะ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีหลักการคำนวนอย่างไร จะเรียกได้เท่าไหร่กันแน่??
เพราะเท่าที่ได้ยินมามา บ้างก็บอกว่าให้เรียกไปก่อนเลยโดยคำนวณจากวันที่เราถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่เราเกษียณ บ้างก็บอกว่ากฎหมายให้ตามอายุงานปีละ 1 เดือน จึงเกิดความสงสัยว่าจริงๆแล้วกฎหมายกำหนดแบบไหนกันแน่ มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนกำหนดไว้เช่นเดียวกับค่าชดเชยหรือเปล่า หนูเปิดพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้วไม่เห็นจะมีเลย??
จากคำถาม เพื่อคลายข้อข้องใจขอตอบแบบนี้
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่เป็นหลักการในวิธีการพิจารณาคดีเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ที่บัญญัติ ว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”
จากข้อบัญญัติข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตัวบทกฎหมายไม่ได้ระบุว่าลักษณะใดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพียงแต่จะเป็นหลักในการพิจารณาค่าเสียหายโดยศาลจะพิจารณาจากอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง รวมถึงเหตุแห่งการเลิกจ้าง ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ไม่เป็นธรรมอย่างไร
ส่วนที่เขาว่ากันว่าได้ปีละเดือนก็อาจจะเป็นจากการสรุปความจากแนวคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคดีจะได้เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาและดุลยพินิจของศาลตามที่กล่าวไปข้างต้น
ดังนั้น หากมีคำถามว่าควรขอค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ดี คำตอบคือ “ไม่ทราบ ตอบแทนไม่ได้”
แต่แนะนำให้ประเมินว่าการถูกเลิกจ้างดังกล่าวมีมูลเหตุไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร และความเดือดร้อนของลูกจ้างหลังจากที่ถูกเลิกจ้างเป็นอย่างไร เช่น ทำงานที่บริษัทมานานแล้วมาถูกเลิกจ้างตอนอายุเยอะ และด้วยอายุอานามก็หางานใหม่ยากลำบาก อีกไม่กี่ปีก็ใกล้เกษียณหากเป็นเช่นนั้นก็อาจคำนวณไปจนถึงเกษียณและขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เป็นต้น
ประเด็นต่อมาคือ แล้วกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือพูดง่ายๆว่าถูกเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง
มาพิจารณาตามนี้
1. ค่าชดเชย สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน ส่วนจะได้เท่าไร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน ไปดูได้ในพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ส่วนคนที่ทำไม่ครบ 120 วันข้ามเรื่องค่าชดเชยไปได้เลย ไม่ได้เข้าข้อนี้
2. ค่าตกใจ (สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า) หากเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด
3. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (รายละเอียดตามด้านบน ถ้าสงสัยว่าต้องได้เท่าไหร่ รบกวนให้วนกลับขึ้นไปอ่านอีกครั้ง)
ปล. คนถามน่ะมีจริง แต่เรียกคนสวยอ่ะไม่มีใครพูดหรอก พูดเอง
————-
ติดต่องานจ้าง
สอบถามค่าบริการได้ทาง
Info@legalclinic.co.th
#ทนายแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน
#PDPA #พรบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
#คลินิกกฎหมายแรงงาน
#ทนายฝ้ายค่ะ