จากประเด็นเล่นเกมส์ ตอบคำถามคราวก่อนมีคนสอบถามเข้ามาว่า ทุกครั้งที่ลูกจ้างทำผิดต้องออกหนังสือเตือนก่อนหรือไม่ ถ้าร้ายแรงเลิกจ้างได้เลยหรือเปล่าและจะเสียค่าตกใจไหม
ตอบได้ไวๆเลยค่ะว่า
.. ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้เลยโดยไม่ต้องมีหนังสือเตือนและไม่ต้องมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า 1 คราวก่อนงวดการจ่ายค่าจ้าง..
ส่วนประเด็นว่าร้ายแรงแค่ไหน แค่ไหนเรียกร้ายแรง?? เพราะความร้ายแรงของแต่ละคนมองไม่เหมือนกันความร้ายแรงแต่ละตำแหน่งหน้าที่ก็แตกต่างกัน
จึงเป็นประเด็นที่น่าพิจารณาว่าการกระทำผิดของลูกจ้างเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่พิจารณาจากอะไร? กรณีฝ่าฝืนข้อบังคับ แต่ไม่ร้ายแรงเลิกจ้างได้เลยหรือไม่?🤔🤔
การพิจารณาการกระทำของลูกจ้าง ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆประกอบกันหลายประการ เช่น
- ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง
- ลักษณะและพฤติการณ์ การกระทำความผิดของลูกจ้าง
- ผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำมีมากน้อยเพียงใด
ยกตัวอย่าง ฎีกาที่ 15077/2555 นางสาว ก. ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรที่ประกอบงานในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปงานเกี่ยวกับร้อยสายไฟฟ้า โดยยืนทำงานอยู่หน้าเครื่องจักร นางสาว ก.นำอาหารมาวางขายไว้ใกล้กับเครื่องจักรที่นางสาว ก.ทำงาน โดยผู้ซื้อจะเลือกหยิบสินค้าเองแล้วนำเงินมาวางให้
ในกรณีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการซื้อขายสินค้าดังกล่าว ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับขัดขวางการทำงาน หรือเป็นเหตุให้งานที่นางสาว ก.ทำอยู่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาว ก.เคยนำสินค้ามาจำหน่ายแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าผู้ควบคุมการทำงาน ก็ทราบ แต่ก็แค่ตักเตือนนางสาว ก.ด้วยวาจาเท่านั้น การกระทำของนางสาว ก.แม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างแต่ก็เป็นเพียงกรณีที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งบริษัทจะต้อง “ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน” ดังนั้น เมื่อบริษัทเลิกจ้างนางสาว ก.โดยไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้นางสาว ก.
จากฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่นายจ้างไม่เสียหาย ไม่เป็นกรณีร้ายแรง ประกอบกับตามฎีกาดังกล่าวนายจ้างตักเตือนทางวาจาเท่านั้น ไม่มีการออกหนังสือเตือน และไม่มีการห้ามทำซ้ำ ดังนั้นการเตือนทางวาจาและให้ออกในความผิดที่ไม่ได้ร้ายแรง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
จากแนวฎีกานี้ ความเห็นของเราเองเห็นว่า แม้ไม่ร้ายแรงแต่ก็ไม่เหมาะสม ดังนั้น หากนายจ้างเห็นว่าไม่เหมาะก็ควรเตือนเป็นหนังสือให้ชอบตามหลักเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน ที่ได้ประกาศไว้ เมื่อมีกฎเกณฑ์แน่ชัดแล้ว การเตือน การลงโทษย่อมต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้วย จึงจะไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
การตำหนิในใจ การเตือนด้วยวาจา เพราะไม่อยากออกหนังสือให้วุ่นวาย อาจทำให้เกิดปัญหาภายหลังเช่นกรณีตัวอย่างฎีกาที่ว่ามานี้ค่ะ
————- 💙
ติดต่องานจ้าง
✅ คดีความ
✅ ที่ปรึกษากฎหมาย
✅ร่างข้อบังคับและสัญญาทั้ง Thai/Eng
✅งานบรรยายกฎหมายแรงงาน PDPA
✅VISA & WORKPERMIT
สอบถามค่าบริการได้ทาง
Info@legalclinic.co.th
และสำหรับท่านใดที่เห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถแชร์ หรือนำไปอ้างอิงก็สามารถนำไปใช้ได้เลยนะคะ แต่ช่วยใส่ Link Page ต้นทางของคลินิกกฎหมายแรงงานให้ด้วยน้า