ค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง จะคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้าย ปัญหาว่า ค่าคอมมิชชั่น ถือเป็นค่าจ้างที่จะนำมารวมคำนวณเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่
คลินิกกฎหมายแรงงานขอตอบเป็นประเด็นดังนี้ค่ะ
- “ค่าจ้าง” หมายถึง เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด วันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่มีสิทธิได้รับค่าจ้างด้วย
- จากคำนิยามของตัวบทกฎหมายข้างต้น หากนายจ้างจ่ายค่าคอมมิชชั่น ในลักษณะที่เป็นค่าตอบแทนการขาย ซึ่งค่าคอมมิชชั่นนี้ลูกจ้างจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่ลูกจ้างสามารถขายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้ว่า ค่าคอมมิชชั่นเป็นเงินส่วนหนึ่งที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงานโดยคิดตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนั้นค่าคอมมิชชั่นจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 แม้ว่าจำนวนค่าคอมมิชชั่นจะไม่เท่ากัน แต่ก็ถือว่าค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าจ้าง (เทียบเคียงฎีกา 2863 /2552)
- ค่าคอมมิชชั่น ที่จะไม่ถือเป็นค่าจ้างก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเป็นเงินจูงใจตกลงจ่ายให้เฉพาะพนักงานที่ทำยอดขายได้ตามเป้าที่กำหนด อันเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำยอดขายเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง อีกทั้งจ่ายเงินจูงใจเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี อันไม่ใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินจูงใจจึงไม่ใช่ค่าจ้าง (ฎีกาที่ 2246/2548)
🚩ดังนั้น หากจ่ายโดยไม่คำนึงว่าต้องทำดีกว่ามากว่ามาตรฐานปกติ พูดง่ายๆก็คือ ทำมากทำน้อยก็จ่าย หากทำมากก็จ่ายมากทำน้อยก็จ่ายน้อย ไม่ถือเป็นแรงจูงใจ แต่เป็นค่าจ้างนั่นเอง 🚩
————- 💙
ติดต่องานขอทราบค่าบริการ
✅คดีความ
✅ที่ปรึกษากฎหมาย
✅ร่างข้อบังคับและสัญญาทั้ง Thai/Eng
✅งานบรรยายกฎหมายแรงงาน PDPA
✅VISA & WORKPERMIT
สอบถามค่าบริการได้ทาง
Info@legalclinic.co.th
และสำหรับท่านใดที่เห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถแชร์ หรือนำไปอ้างอิงก็สามารถนำไปใช้ได้เลยนะคะ แต่ช่วยใส่ Link Page ต้นทางของคลินิกกฎหมายแรงงานให้ด้วยน้า