อ่านคำถามหลังบ้านวันนี้ ก็เข้าใจคนถาม เพราะใจนึงก็ห่วงงานกลัวเสียหาย แต่อีกใจก็ประสงค์จะรักษาสิทธิ หากต้องทำงานล่วงเวลา แต่ประเด็นมันดันอยู่ที่ว่า ถ้านายจ้างไม่สั่ง แล้วเราทำงานล่วงเวลาเอง เราขอค่าล่วงเวลาได้หรือไม่ เราขอให้ความเห็นแบบนี้ค่ะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 ให้นิยามของ “การทำงานล่วงเวลา” หมายความว่า “การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้าง ลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี” และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการทำงานของลูกจ้างที่จะเป็นการทำงานล่วงเวลาจึงต้องเป็นกรณีที่เป็นความประสงค์ของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยลูกจ้างให้ความยินยอมก่อนเป็นคราวๆ ไป และจะต้องเป็นการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า จากบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นจึงเห็นได้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้สั่งให้ทำงานล่วงเวลา ลูกจ้างก็ไม่ไม่สิทธิได้รับค่าล่วงเวลา (คำพิพากษาฎีกาที่ 9015/2549) ส่วนกรณีที่แฟนเพจถามมานี้ นอกจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เราแนะนำว่าหากกังวลว่าวานจะเสียหายถ้าไม่ทำล่วงเวลา ให้ไปชี้แจงปริมาณงานกับปริมาณคนทำงาน หรือเวลาทำงานกับนายจ้าง รวมถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวด้วย แต่ถ้าบอกแล้วนายจ้างไม่ได้อนุมัติให้ทำงานล่วงเวลา แนะนำว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของนายจ้างค่ะ กลับบ้านอาบน้ำนอน พักผ่อนตามอัทธยาศัย […]