นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง แบบนี้ถือว่าเลิกจ้างหรือไม่??
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 วรรค 2 ให้นิยามของคำว่าเลิกจ้างว่าการเลิกจ้างหมายถึงการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปนั้นไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นและรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
จากนิยามดังกล่าวนั้นจึงถือได้ว่าการเลิกจ้างตามกฎหมายมีอยู่ 2 กรณีคือ
1. นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานแล้วไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ ว่าจะด้วยเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือหยุดเอง และ
2. ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ดังนั้นในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานแต่ไม่จ่ายค่าจ้างก็ ยังไม่เข้า นิยามของการเลิกจ้างตามที่กล่าวมาข้างต้น หากจะเทียบเคียงคดีความที่เคยมีก่อนหน้านี้คงจะต้องเทียบเคียงจากฎีกาที่ 3710/2531 โดยคดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านายจ้างไม่ได้แสดงเจตนาเลิกจ้างแต่ไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายจ้างไม่ได้กีดกันห้ามจ้างเข้าไปทำงานลูกจ้างยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดกรณีนี้ไม่ถือว่านายจ้างเลิกจ้าง
อ่าน มาถึงตรงนี้ก็คงร้องว่าอ้าว!!
ไปทำงานแล้วไม่ได้ค่าจ้างจะไปทำงานเพื่ออะไรกฎหมายไม่ยุติธรรมไม่คุ้มครองเลย… ใครที่คิดแบบนี้อยู่ไม่ใช่นะอ่านให้จบก่อน
กรณีที่นายจ้างยังคงให้ลูกจ้างทำงานอยู่แต่ไม่จ่ายค่าจ้างนั้นลูกจ้างมีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและหากนายจ้างจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุอันสมควรนายจ้างต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วันด้วย ( อ้างอิงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 9)
ใครมีคำถามใน inbox ก็ใจเย็นหน่อยนะคะจะทยอยเอามาตอบเรื่อยๆในหน้าเพจนะเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย
ติดต่องาน
Info@legalclinic.co.th