การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมต้องทำอย่างรอบครอบและรัดกุม เพราะหากนำคดีเรื่องเดิมมารื้อร้องฟ้องกันใหม่จะเป็น “ฟ้องซ้ำ”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2537 จำเลยเคยฟ้องโจทก์ขอให้ส่งมอบสินส่วนตัวและแบ่งสินสมรสโจทก์ให้การว่าโจทก์เป็นหนี้ธนาคารซึ่งโจทก์กู้มาใช้ในครอบครัว หากต้องแบ่งสินสมรสให้จำเลยแล้วต้องหักเงินดังกล่าวกึ่งหนึ่งให้โจทก์ด้วย ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้กล่าวถึงหนี้ดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด การที่โจทก์นำหนี้สินซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4801/2546 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านของโจทก์ขอให้ขับไล่ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมว่าโจทก์ตกลงโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลย โดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน 600,000 บาท ข้อโต้แย้งสิทธิตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้งได้ถูกแปลงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าประเด็นแห่งคดีได้มีการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอม โจทก์จำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติตามนั้น จำเลยจึงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อจำเลยผิดสัญญาฯ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาทในคดีดังกล่าว แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เกิดขึ้นใหม่จากการที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อน ซึ่งจำเลยผิดสัญญาและเป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยนอกเหนือจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามคำฟ้องคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุคนละอย่างกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ