กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานแจ้งลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน ได้หรือไม่ กฎหมายกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการแจ้งอย่างไร?

3 August 2022
“แจ้งลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน ได้หรือไม่ กฎหมายกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการแจ้งอย่างไร?”
เป็นคำถาม จากแฟนเพจท่านนึง จริงๆเรื่องนี้เขียนไปแล้วสามพันรอบ แต่เข้าใจว่าให้ไล่อ่านอาจจะนิ้วล็อคก็เป็นได้ เลยมาตอบให้อีกรอบ สำหรับแฟนเพจผู้น่ารัก
โดยคำตอบมี ดังนี้!!
“ระยะเวลาอาจจะน้อยกว่า 30 วันหรือมากกว่า 30 วัน ก็ได้” ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวันกำหนดรอบการจ่ายค่าจ้างเป็นหลัก!!
โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
1.การลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.17
2.กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องแจ้งลาออกล่วงหน้ากี่วัน
กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่าการลาออกหรือบอกเลิกสัญญาจ้าง “ต้องแจ้งก่อนหรือในวันครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง จึงจะมีผลเลิกสัญญา ในวันครบกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป” ซึ่งระยะเวลาที่ต้องบอกล่วงหน้านั้น ต้องดูรอบการจ่ายค่าจ้างเป็นหลัก (ขีดเส้นใต้ 12 เส้น) เช่น
-นายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้าง ทุกวันที่ 5 และ 25 ของเดือน หากลูกจ้างแจ้งลาออก วันที่ 1 ส.ค. (บอกในรอบการจ่ายค่าจ้างวันที่ 5 ) วันลาออกก็มีผลวันที่ 25 ส.ค.
-นายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้าง ทุกวันสิ้นเดือน หากลูกจ้างแจ้งลาออกวันที่ 31 ก.ค. (บอกในรอบการจ่ายค่าจ้าง 31 ก.ค.) ก็จะมีผลลาออกวันที่ 31 ส.ค.
-นายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้าง ทุกวันสิ้นเดือน หากลูกจ้างแจ้งลาออกวันที่ 5 ก.ค. (บอกในรอบการจ่ายค่าจ้าง 31 ก.ค.) ก็จะมีผลลาออกวันที่ 31 ส.ค.
ตามตัวอย่างจะเห็นว่า ระยะเวลาในการแจ้งที่มีผลตามกฎหมาย มีทั้งน้อยกว่า 30 วัน และมากกว่า 30 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรอบการจ่ายค่าจ้าง
3.นายจ้างกำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงว่าการแจ้งลาออกต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน บังคับได้หรือไม่
คำตอบคือ “บังคับได้” ไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.582 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ม.17 กำหนดว่าการบอกเลิกสัญญา ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน 3 เดือน
4.หากลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบ แล้วเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ แต่นายจ้างต้องพิสูจน์ความเสียหายให้ศาลเห็นว่าการลาออกนั้นเกิดความเสียหายอย่างไร จะไปกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ได้ และในกรณีที่นายจ้างกำหนดเบี้ยปรับว่าลาออกไม่ถูกต้องนายจ้างเสียหาย ศาลก็มีอำนาจปรับลดได้หากเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินควรฎีกาที่ 10614/2558
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ